ทราบกันหรือไม่ว่า วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี คือ “วันประถมศึกษาแห่งชาติ” มาติดตามประวัติความเป็นมาอีกหนึ่งวันสำคัญทางการศึกษาไทย จุดประสงค์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ และกิจกรรมในวันประถมศึกษาแห่งชาติพร้อมๆ กัน
วันประถมศึกษาแห่งชาติ
25 พฤศจิกายนของทุกปี
การศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความงอกงามและก้าวหน้าให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้ราชการจึงได้กำหนดวันประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นระดับการศึกษาในขั้นต้นขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษา โดยช่วงระดับประถมศึกษา คือช่วง ประถมศึกษาปีที่ 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6
ความเป็นมาของวันประถมศึกษาแห่งชาติ
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริที่จะให้คนไทยมีความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ. 2414 คือโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสวนกุหลาบ ตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และขนบธรรมเนียมราชการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก คือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม และมีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
สำหรับ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนประจำชายล้วน) หรือ วชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ
ต่อมาในปี พ.ศ.2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 ขึ้น
เพื่อกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปี บริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โดยพระราชบัญญัติประถมศึกษานี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2464
กระทรวงศึกษาจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติเป็นประจำมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2491-2509 ซึ่งโรงเรียนประถมศึกษาได้ถูกโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่นั้นมางานวันประถมศึกษาแห่งชาติจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วันศึกษาประชาบาล
ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาขึ้น จึงได้โอนโรงเรียนประชาบาลกลับมาสังกัดคณะกรรมการการศึกษา การจัดงานวันศึกษาประชาบาลจึงสิ้นสุดลง และกลับมาจัดวันประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นใหม่
โดยกำหนดให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวแทน เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษาและพระราชทานตราพระราชบัญญัติ อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ในคราเดียวกันกับวันวชิราวุธที่ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ดังนั้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา วันประถมศึกษาแห่งชาติจึงถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี
จุดประสงค์ของวันประถมศึกษาแห่งชาติ
1. เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อการศึกษาไทย
2. เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้งานด้านประถมศึกษาแก่ผู้ที่สนใจ จนนำไปสู่การพัฒนาด้านการเรียนการสอน
3. ปลูกจิตสำนักของประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา
4. เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะของนักเรียนระดับประถมศึกษาให้เกิดการเรียน การสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติวันประถมศึกษาแห่งชาติ
1. จัดเผยแพร่นิทรรศการต่างๆโดยเผยแพร่พระเกียรติประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า ที่มีต่อวงการศึกษาไทย
2. จัดนิทรรศการเผยแพร่ แสดงประวัติความก้าวหน้าของการประถมศึกษาแห่งชาติและการศึกษาไทย
3. จัดกิจกรรมทางวิชาการเสริมความรู้และทักษะด้านต่างๆเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ นักเรียนรวมทั้งจัดประชุมและสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาวงการศึกษาไทยให้มี
ที่มาข้อมูลจาก moe.go.th, วิชาการ.คอม, กระทรวงศึกษาธิการ, lib.ru.ac.th, thaigoodview.com, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว