เกร็ดความรู้รอบตัว สัตว์ประจำชาติ ของแต่ละประเทศ (AEC) พร้อมเผยเหตุผล ว่าทำไมถึงเลือกสัตว์ชนิดต่างๆ นี้เป็น สัตว์ประจำชาติ ไปดูกันเลยว่าทั้ง 10 ประเทศในอาเซียนต่อไปนี้มีสัตว์อะไรกันบ้าง
สัตว์ประจำชาติ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เกร็ดความรู้รอบตัว
1.ประเทศไทย สัตว์ประจำชาติไทย คือ ช้าง
อเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของประเทศ โดยเมืองไทยเรานั้น มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับช้างนับเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ครั้งหนึ่งธงชาติไทยก็มีรูปช้างปรากฏอยู่บนผืนธงสีแดง กระทั่งในเดือนพฤษภาคม ปีพุทธศักราช 2541 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ช้างไทย เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญและการดำรงอยู่ของช้างไทย
2. ประเทศสิงคโปร์ สัตว์ประจำชาติสิงคโปร์ คือ สิงโต
ซึ่งเป็นที่มาของชื่อประเทศ มาจากคำว่า สิงหปุระ (Singapura) เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงเมืองแห่งสิงโต ตามตำนานเล่าขาน เจ้าผู้ครองนครแห่งปาเล็มบัง ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ได้ออกเดินทางแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อสร้างเมือง แต่เรือก็อับปางลง พระองค์ได้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง แล้วก็เห็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างลำตัวสีแดงหัวดำหัวคล้ายสิงโตหน้าอกขาว พระองค์จึงถามคนติดตามว่า สัตว์ตัวนั้นคืออะไรคนติดตามก็ตอบว่ามันคือ สิงโต พระองค์จึงเปลี่ยนชื่อเกาะแห่งนั้นเสียใหม่ว่า สิงหปุระ ซึ่งจริงๆ แล้วสัตว์ชนิดนั้นอาจเป็นเสือ เพราะไม่มีหลักฐานว่ามีการพบสิงโตบนเกาะมาก่อน แต่ประเทศสิงคโปร์และสิงโตก็มีความเกี่ยวข้องกันนับจากนั้นเป็นต้นมาปัจจุบันบนตราแผ่นดินสิงคโปร์ มีสิงโตปรากฏอยู่เคียงคู่กับเสือโคร่ง โดยสิงโตด้านขวานั้นแทนประเทศสิงคโปร์ ส่วนเสือโคร่งด้านซ้ายนั้นแทนประเทศมาเลเซียแสดงถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของเกาะสิงคโปร์กับมาเลเซีย โดยสิงโตนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความกล้าหาญ พละกำลังและความดีเลิศ
3.สปป. ลาว สัตว์ประจำชาติสปป. ลาว คือ ช้าง
ช้าง ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีความผูกพันกับชาวลาวเป็นอย่างยิ่ง ในอดีตลาวได้รับการเรียกขานว่าเป็นเมืองล้านช้าง แต่ปัจจุบันประชากรช้างในลาวอยู่ในภาวะวิกฤต รัฐบาลลาวจึงได้ฟื้นฟูและอนุรักษ์ช้างลาวไว้ โดยการจัดงานบุญช้างขึ้น ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 6
4.ประเทศพม่า สัตว์ประจำชาติพม่า คือ เสือโคร่ง
แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศพม่าได้เป็นอย่างดี ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า เสือคือดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า ดังนั้นเสือจึงถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติพม่า
5.ประเทศอินโดนีเซีย สัตว์ประจำชาติอินโดนีเซีย คือ มังกรโคโมโด
เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสัตว์เลื้อยคลานใกล้สูญพันธุ์พบได้เฉพาะบนเกาะโคโมโด (Komodo Island) เกาะเล็กๆ ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ เนื่องจากเป็นเกาะภูเขาไฟกลางทะเล
6.ประเทศฟิลิปปินส์ สัตว์ประจำชาติฟิลิปปินส์ คือ กระบือ
กระบือ ในภาษาตากาล็อกเรียกว่า คาราบาว เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นาหรือบางทีใช้สำหรับการชักลากซุงออกจากป่า โดยลักษณะนิสัยพฤติกรรมของกระบือนั้น มักจะชอบนอนแช่น้ำหรือแช่ปลักโคลน เพื่อเป็นการผ่อนคลายความร้อนของร่างกาย เมื่อว่างเว้นจากการถูกใช้งาน
7.ประเทศมาเลเซีย สัตว์ประจำชาติมาเลเซีย คือ เสือโคร่งมลายู
มีถิ่นฐานอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู โดยเสือโคร่งนั้นได้รับการยกย่องอย่างสูงยิ่ง ดังปรากฏอยู่บนตราแผ่นดินของมาเลเซีย เพื่อแสดงถึงกำลังและความกล้าหาญของชาวมาเลเซีย อีกทั้งยังใช้เป็นสมญานามของฟุตบอลทีมชาติมาเลเซียอีกด้วย
8.ประเทศกัมพูชา สัตว์ประจำชาติกัมพูชา คือ กูปรี
เป็นสัตว์จำพวกกระทิงและวัวป่า มักอยู่รวมเป็นฝูง โดยฝูงหนึ่งอาจมากถึง 20 ตัว จัดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบเห็นยากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ปัจจุบันไม่มีการรายงานการพบมานานแล้ว เชื่อว่าอาจจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ในชายแดนไทยกับกัมพูชาแถบจังหวัดศรีสะเกษ ในปี 2507 เจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชาทรงประกาศให้กูปรีเป็นสัตว์ประจำชาติของกัมพูชา
9.ประเทศเวียดนาม สัตว์ประจำชาติเวียดนาม คือ กระบือ
ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ปลูกข้าวรายใหญ่ประเทศหนึ่งของโลก และการปลูกข้าวของชาวเวียดนามนั้น ยังนิยมใช้กระบือในการไถนาอยู่ ดังนั้นวิถีชีวิตของคนเวียดนามจึงผูกพันกับกระบือมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น โดยที่กระบือนั้นจะสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศเวียดนาม (เช่นเดียวกับประเทศไทยในสมัยที่ยังนิยมใช้กระบือไถนานั่นเอง) ดังนั้นกระบือจึงถูกยกขึ้นเป็นสัตว์ประจำชาติเวียดนาม
10.ประเทศบรูไน สัตว์ประจำชาติบรูไน คือ เสือโคร่ง
โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศบรูไนซึ่งมีภูเขาและป่าไม้อยู่เป็นจำนวนมาก มีประชากรไม่หน่าแน่น สัตว์ป่าจึงไม่ถูกรบกวน จึงสามารถพบเสือโคร่งสายพันธุ์เอเชียจำนวนมาก และได้ถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศบรูไนในที่สุด
ที่มาข้อมูลจาก aec-business