เรามักจะคิดว่า “การตกหลุมรัก” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมได้ แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว คุณสามารถโน้มน้าวใครคนนั้นให้หันมาสนใจหรือมีความรู้สึกที่ดีให้กับคุณได้ ถ้าบังเอิญคุณเกิดมีความพร้อมและเตรียมความพร้อมสำหรับความสัมพันธ์ ซึ่งความรักนั้นก็จะค่อยๆ เติบโต แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความรักสามารถปลูกหรือสังเคราะห์ได้หรือไม่? กล่าวอีกนัยหนึ่งเราสามารถสร้างความรักในห้องแล็บได้หรือไม่? เราจะมาหาคำตอบกัน
36 คำถาม จิตวิทยาความรัก ความลับที่ทำให้ คนตกหลุมรักกัน
ทั้งนี้ ในปี 1997 Dr. Arthur Aron นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Brook และทีม ได้คิดทำการทดลองทางจิตวิทยา เกี่ยวกับบทสรุปของการตกหลุมรักกันได้ในห้องทดลองและได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคม เพื่อพยามยามทำให้คนมีความรู้สึกคุ้นเคย สนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น โดย Dr.Arthur อธิบายการทดลองในห้องปฏิบัติการที่ ทำให้คนแปลกหน้าตกหลุมรักกันภายในช่วง 45 นาที โดยให้คู่อาสาสมัครแต่ละคนเข้าห้องทดลองและนั่งหันหน้าเข้าหากัน แล้วผลัดกันถาม-ตอบชุดคำถามซึ่งมีทั้งหมด 36 ข้อ เพื่อให้พวกเขาใกล้ชิดกันมากขึ้น
คำถามเริ่มต้นง่ายๆ เช่น คุณอยากมีชื่อเสียงมั้ย…อยากมีชื่อเสียงในทางไหนล่ะ และคุณร้องไห้คนเดียวครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ แล้วร้องไห้ต่อหน้าคนอื่นล่ะ? สิ่งที่คุณชอบในตัวกันและกัน อะไรคือสิ่งที่คุณกับคู่ของคุณมีเหมือนกัน 3 อย่าง? หลังจากนั้นคำถามก็เริ่มเข้าข่ายเป็นการสืบสวนเจาะลึกอย่างรวดเร็ว
จากนั้นหลังตอบคำถามเสร็จก็ให้ สบตากันเป็นเวลา 4 นาที โดยห้ามพูดอะไร ซึ่งเมื่อทั้งคู่ได้พูดคุยกันแล้วก็ทำให้รู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น และสิ่งที่ค้นพบก็คือ หนึ่งในคู่ที่เข้าร่วมทดลองดันไปแต่งงานกันจริงๆ หลังจากนั้น 6 เดือน!
สิ่งที่ทำให้ขั้นตอนของ Dr. Arthur มีประสิทธิภาพในการสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมและเกิดเป็นความรักในที่สุด นั่นอาจเป็นเพราะเมื่อบุคคลสองคนแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวกันแล้ว มันอาจทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างในตัวใครบางคนจนเกิดเป็นความรักได้ด้วย และอีกแรงผลักดัน ที่มีบทบาทในการกระตุ้นความรักในการทดลองของ Dr. Arthur คือการนับถือตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ของการตกหลุมรักใครบางคนรวมถึงการตกหลุมรักตัวเอง เกิดจากการได้รับความรัก การนับถือตนเองและการเสริมสร้างความมั่นใจในการเข้าสังคมของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการรักษาความสัมพันธ์ที่โรแมนติกด้วย
ทั้งนี้ การทดลองของ Dr. Arthur ก็ทำให้เราเข้าใจนัยยะสำคัญของความสัมพันธ์ที่อยู่เหนือขอบเขตของห้องปฏิบัติการ นั่นก็คือการเปิดกว้างไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เราอาจแสดงจุดอ่อนและอาจทำให้เราอยู่ในตำแหน่งที่อ่อนแอ แต่ในท้ายที่สุดก็จะสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ การตกหลุมรักจึงเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการทำให้ความรักมั่นคงสม่ำเสมอในทุกๆ วัน
สุดท้ายนี้ใครที่อยากลองเอาการทดลองนี้ไปใช้ก็ได้นะ ได้ผลลัพธ์อย่างไรมาแชร์ประสบการณ์กันได้เลย
แบบทดสอบ 36 คำถาม
- ใครที่คุณอยากเชิญมาเป็นแขกร่วมรับประทานอาหารมื้อเย็นด้วยกัน
- คุณอยากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหรือเปล่า แล้วด้านไหนล่ะ
- ก่อนจะโทรศัพท์หาใครสักคน คุณเคยซักซ้อมคำพูดก่อนไหม ทำไมล่ะ
- มีอะไรบ้างเอ่ยที่ทำให้แต่ละวันเป็นวันที่ยอดเยี่ยมสำหรับคุณ
- ครั้งสุดท้ายที่ร้องเพลงกับตัวเองคือเมื่อไร แล้วครั้งสุดท้ายที่ร้องกับคนอื่นล่ะ
- ถ้าหากคุณสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึงอายุ 90 ปี คุณจะเลือกสิ่งไหนระหว่างสภาพจิตใจหรือสภาพทางกายที่เทียบเท่ากับคนอายุ 30 ปี เพื่อใช้ชีวิตอีก 60 ปีเหลือของคุณ
- มีลางสังหรณ์มั้ย ว่าตัวเองจะตายแบบไหน
- จงบอก 3 สิ่งที่คุณและคนนั้นมีเหมือนๆ กัน
- ในชีวิตนี้ คุณรู้สึกตื้นตันกับอะไรมากที่สุด
- ถ้าหากคุณสามารถเปลี่ยนวิธีการถูกเลี้ยงดูมา สิ่งนั้นควรจะเป็นอะไร
- ใช้เวลา 4 นาทีเพื่อบอกคนนั้นเกี่ยวกับชีวิตคุณ
- ถ้าหากว่าพรุ่งนี้ คุณตื่นขึ้นมาพร้อมกับการมีศักยภาพหรือความสามารถในบางสิ่งบางอย่าง สิ่งนั้นควรจะเป็นอะไร
- ถ้าหากลูกแก้ววิเศษสามารถบอกเกี่ยวกับความจริงเกี่ยวกับตัวคุณ ชีวิตคุณ อนาคตของคุณหรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งใดที่คุณปรารถนาจะรู้
- มีอะไรไหมที่คุณวาดฝันเอาไว้ว่าอยากทำมานานแล้ว แล้วทำไมคุณถึงยังไม่ได้ลงมือทำมันล่ะ
- ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของคุณคืออะไร
- คุณให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากที่สุดในมิตรภาพของคุณ
- ความทรงจำที่แสนล้ำค่าน่าจดจำของคุณคือเรื่องใด
- ความทรงจำอันเลวร้ายของคุณคืออะไร
- ถ้าหากคนรู้แล้วว่าในอีก 1 ปี คุณจะตาย คุณอยากจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ไหมและทำไม
- สำหรับคุณแล้ว คำว่า “มิตรภาพ” คืออะไร
- ความรักใคร่มีบทบาทอย่างไรกับชีวิตคุณ
- บอกสิ่งที่ดีเกี่ยวกับคนนั้นของคุณ 5 ข้อ
- ครอบครัวคุณสนิทสนมกันและอบอุ่นมากแค่ไหน แล้วคิดว่าชีวิตในวัยเด็กของคุณมีความสุขกว่าคนอื่นๆหรือเปล่า
- คุณรู้สึกยังไงกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณและแม่
- ให้ช่วยกันคิดประโยค 3 ข้อ ณ สถานการณ์ตอนนั้นที่เป็นจริง โดยใช้คำว่า “เรา” ในทุกๆประโยค ตัวอย่างประโยคเช่น “เราทั้งสองคนอยู่ในห้องนี้แล้วรู้สึก……”
- เติมเต็มประโยคให้สมบูรณ์ “ฉันได้แต่หวังว่าจะมีใครสักคนที่จะสามารถร่วมแบ่งปัน …..”
- ถ้าหากคุณจะต้องกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับคนนั้น สิ่งสำคัญที่คุณควรจะบอกเขาหรือเธอให้ได้รู้คืออะไร
- บอกสิ่งที่คุณชื่นชอบในตัวคนนั้นด้วยสัตย์จริง ซึ่งคุณต้องไม่เคยบอกสิ่งเหล่านี้กับคนที่คุณเพิ่งเจอมานะ
- เล่าเรื่องที่น่าอายของคุณให้คนนั้นฟัง
- คุณร้องไห้ต่อหน้าคนอื่นและแอบร้องไห้คนเดียวครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
- บอกสิ่งที่คุณชอบเกี่ยวกับตัวเขา
- สิ่งที่คุณคิดว่าไม่ควรเอามาล้อเล่น
- ถ้าหากคุณจะต้องตายในตอนเย็นนี้โดยที่ไม่มีโอกาสได้บอกใครเลย เรื่องไหนที่ทำให้คุณเสียใจมากถ้าหากไม่ได้บอก แล้วทำไมคุณถึงยังไม่บอกอีกล่ะ
- บ้านคุณไฟไหม้ ในนั้นก็มีทุกอย่างที่คุณเป็นเจ้าของ หลังจากที่คุณสามารถช่วยคนและสัตว์เลี้ยงที่คุณรักได้แล้ว ถ้าคุณมีเวลากลับไปเอาของ สิ่งนั้นจะเป็นอะไร ทำไม
- สำหรับสมาชิกในครอบครัว การตายของใครทำให้คุณเสียใจมากที่สุด ทำไม?
- ระบายปัญหาส่วนตัวพร้อมขอคำแนะนำจากคนนั้นว่าเขาจะมีวิธีรับมือกับปัญหานั้นอย่างไร จากนั้นก็ลองให้คนนั้นลองคิดสิว่าคุณน่าจะรู้สึกอย่างไรกับปัญหานี้
ที่มา www.psychologytoday.com