จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางงาม ภาษาสเปน เรียนออนไลน์

เจาะลึกโลก “นางงาม กับคอร์สภาษาสเปน” อักษรฯ จุฬาฯ ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้

อักษรฯ จุฬาฯ ชวนผู้สนใจติวเข้มภาษา และวัฒนธรรมสเปน ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน กับคอร์สแรกในประเทศไทย “ภาษาสเปนกับนางงาม”

Home / CAMPUS / เจาะลึกโลก “นางงาม กับคอร์สภาษาสเปน” อักษรฯ จุฬาฯ ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้

อักษรฯ จุฬาฯ ชวนผู้สนใจติวเข้มภาษา และวัฒนธรรมสเปน ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน กับคอร์สแรกในประเทศไทย “ภาษาสเปนกับนางงาม” ซึ่งจะพาผู้เรียนไปรู้จักโลกของสตรีและวัฒนธรรมความงาม เศรษฐกิจการเมืองโลกบนเวทีการประกวด ครบเครื่องทุกมิติโดยวิทยากรผู้มากประสบการณ์

จัดครบทั้งภาษา สาระ และความสนุก เจาะลึกโลก “นางงาม” กับคอร์สภาษาสเปน อักษรฯ จุฬาฯ

ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ ร่วมกับสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดคอร์สเรียน “ภาษาสเปนกับนางงาม” (ออนไลน์) โดย อาจารย์ธง – ฐิติพงษ์ ด้วงคง นักวิชาการด้านสตรีศึกษาและลาตินอเมริกาฯ ผู้ชำนาญการประกวดนางงามและคณะทำงานเตรียมความพร้อมให้แก่นางสาวอแมนด้า ออบดัม (Amanda Obdam) ในเวทีประกวด Miss Universe รวมทั้งผู้พากย์ในเวทีประกวดนางงามจักรวาลครั้งล่าสุดนับเป็นคอร์สเรียนภาษาสเปนที่ตั้งประเด็นการเรียนรู้ได้โดดเด่นเร้าใจ ทำให้เมื่อประกาศเปิดคอร์ส ก็มีผู้สนใจสมัครเข้ามาอย่างล้นหลามจนต้องปิดรับสมัครในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยจำนวนผู้เข้าเรียนตามที่ตั้งไว้ 30 คน และเริ่มเรียนกันไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา

“หัวข้อเรียนรู้ในครั้งนี้เปิดกว้างให้คนที่มีความสนใจจากหลากหลายพื้นฐาน มีน้องเล็กสุดอายุเพียง 15 ปี นักศึกษาและคนวัยทำงาน บางคนมีพื้นฐานภาษาสเปนมาก่อนและบางคนเป็นศูนย์เลยก็มี แต่แค่ 1 เดือน คนที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนก็สามารถสื่อสารทำคลิปแนะนำตัวเองได้ดีมากเหมือนเรียนมานาน” อาจารย์ธงกล่าวพร้อมเปิดใจถึงที่มาและประเด็นสำคัญในการเปิดคอร์สที่ไม่ธรรมดา “ภาษาสเปนกับนางงาม”

ทำไมต้อง “ภาษาสเปนกับนางงาม”

ที่อื่นก็มีสอนภาษาสเปน แต่ที่นี่จะเรียนต่างออกไป คอร์สนี้ถูกออกแบบมาเป็น Affective Learning ที่จะสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้เรียน และถือเป็นมิติใหม่ของการเรียนภาษาที่ใช้ Theme-based ซึ่งเลือก “วัฒนธรรมการประกวดนางงาม” เป็นหัวข้อหลักในการเรียนการสอน เราต้องการสร้างความแตกต่างจากสถาบันอื่น และที่เลือกหัวข้อนี้เพราะวัฒนธรรมการประกวดความงามเป็นที่นิยมเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบอเมริกาใต้และอเมริกากลาง โดยเชื่อมโยงเวทีการประกวดกับประเด็นทางสังคม เหตุการณ์การเมืองในประเทศต่างๆ จนกลายเป็นเวทีสะท้อนภาพของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน และอาจนับเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเปลี่ยนแปลงบนเวทีโลก เราจึงเลือกเรื่องนางงามเป็นธีมสำหรับการเรียนรู้ไปพร้อมกับภาษาสเปน

หากมองถอยกลับไปในอดีต ก่อนมีประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในอาณานิคมสเปนซึ่งหมายถึงส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ขยายไปถึงแถบ West Indies เช่น คิวบา ล้วนผูกพันและชื่นชอบนางงามกันมากจนกลายเป็นของคู่กัน ซึ่งนี่เองที่ถูกมองว่าเป็นการปกครองด้วยอำนาจอ่อน (soft power) หรืออำนาจทางวัฒนธรรมแทนการใช้อำนาจปกครองแบบเดิมๆ และการปกครองด้วยอำนาจทางวัฒนธรรมเช่นนี้ก็ได้รับการสืบทอดต่อมาในสมัยที่สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจโลกผู้ครอบงำทางวัฒนธรรมมวลชนในประเทศละตินอเมริกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมทั้งประเทศไทยที่สมัยหนึ่ง “อเมริกันสไตล์” กลายเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชน การแสดงแบบอเมริกันถูกเผยแพร่กระจายไปตามสื่อบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งเวทีประกวดนางงามก็เป็นหนึ่งในกระแสนิยมนี้

นัยยะของการประกวดมีความหมายมากกว่าการประชันความงาม

จากวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคมและมหาอำนาจโลก เวทีประกวดวันนี้ได้กลายเป็นโอกาสของตัวแทนพลเมืองประเทศที่ถูกกดขี่ได้ใช้แสดงออกถึงความต้องการสิทธิและเสรีภาพทางเพศ ได้เปล่งเสียงแห่งความคับแค้นจากความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในประเทศตนบนพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนทั่วโลกต่างเฝ้าจับตา และได้อวดความภูมิใจในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนที่แม้แต่ในประเทศตัวเองก็หาโอกาสนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มิติทางการเมืองวัฒนธรรมของการประกวดจึงสำคัญโดดเด่นยิ่งกว่าภาพการแข่งขันความงามของสตรีตัวแทนแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม เวทีการประกวดก็ยังเป็นพื้นที่ของโอกาสในชีวิตของผู้หญิงอีกหลายคน โดยเฉพาะผู้หญิงจากประเทศกลุ่มละตินอเมริกาและบางประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งบรรยากาศการประกวดหญิงงามในประเทศเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีอัตราการแข่งขันกันสูงมาก เพราะผลตอบแทนสำหรับผู้ชนะ นอกจากเงินรางวัลก้อนโตแล้ว ยังหมายถึงโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิตนี้ที่จะยกระดับเศรษฐานะของตน หน้าที่การงาน ชื่อเสียง และตำแหน่งแห่งที่ในสังคม

สตรีนิยม ชาตินิยม และศักดิ์ศรีของชาติ

นางงามที่ชนะการประกวดในโลกทัศน์ของพลเมืองในประเทศอดีตอาณานิยมสเปนจะได้รับความชื่นชมยกย่องเสมือนเป็นวีรสตรีแห่งชาติ เธอจะได้รับการปฏิบัติระดับเดียวกับบุคคลสำคัญของประเทศ ภาพลักษณ์ของนางงามผู้ชนะการประกวดจึงมีความหมายแฝงถึง “ความเป็นชาติ” แทนศักดิ์ศรีและความภูมิใจของคนทั้งประเทศ นัยยะนี้ เวทีประกวดความงามของเธอจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป หากเป็นสมรภูมิรบครั้งสำคัญของคนทั้งชาติ เสมือนการต่อสู้ครั้งใหญ่ของผู้คนทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ในภาพตัวแทนของสตรีเพศ เธอยังต้องทำหน้าที่สำคัญอีกอย่างคือการเป็นปากเสียงให้แก่ผู้หญิงที่มักตกเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ทั้งในครอบครัวและพื้นที่ชีวิตในสังคมนอกบ้าน ด้วยเหตุนี้ เสียงต้อนรับงานประกวดจึงคึกคักเสมอในสังคมละตินอเมริกาหรือที่ใดก็ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์โภคผลจากความเจริญของประเทศ

อบฟ้าใหม่ของการเรียนรู้ภาษาสเปน

เนื้อหาที่อัดแน่นบวกกับการสอนที่สนุกทำให้ผู้เรียนภาษาสเปนกับนางงามหลายคนเข้าห้องเรียนออนไลน์ก่อนเวลา และไม่ยอมเลิกแม้จะถึงเวลาอาหารกลางวันแล้วก็ตาม ดังเสียงสะท้อนความสนุกของผู้เรียน เป็นต้นว่า

  • “ผมชอบและรักคลาสนี้มากๆ มันเป็นการบูรณาการการสอนที่เป็นการเรียนรู้ผ่าน passion หรือ inspiration ของตัวเอง ทำให้เรารับรู้และเรียนได้เร็วขึ้น สนุกและอยากพัฒนาให้เก่งขึ้น แถมยังได้ความรู้ใหม่ๆ การเมือง ประวัติศาสตร์ด้วย”
  • “เคยเรียนภาษาสเปนมาแล้ว แต่คอร์สนี้มีเนื้อหาที่ไม่มีสถาบันใดเปิดสอน เราได้เรียนทั้งทักษะด้านภาษาและความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมเรื่องนางงาม”
  • “ไม่เคยคิดที่จะเรียนภาษาสเปน แต่เนื้อหาคอร์สน่าสนใจ เช่น เฟมินิสต์ หรือการให้คุณค่ากับความเป็นผู้หญิง”
  • “สนใจประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมในประเทศไทยและแถบละตินอเมริกา ชอบบทเรียนที่อาจารย์เตรียมมาสอนทุกครั้ง เรียนสนุก เข้าถึงและย่อยเนื้อหาง่าย นำไปใช้ได้จริง”
  • “สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนภาษาสเปนมาก่อน คอร์สนี้คือ Free space ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนภาษาสเปน เป็นพื้นที่ที่มีอิสระ ขจัดทุกความกลัว ความกังวล ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องเขินอายที่จะกลัวผิด ลบภาพจำของการเรียนภาษาแบบเดิมๆ ได้เลย”

เสียงสะท้อนของผู้เรียนทำให้อาจารย์ธงมั่นใจว่าคอร์สภาษาสเปนกับนางงามต้องมีภาคต่ออย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังจะเสริมด้วยรายการอื่นๆ เช่น รายการทอล์กวิชาการผ่าน Zoom ในหัวข้อน่าสนใจอย่าง “มองผู้หญิงลาตินอเมริกันในสื่อ สู่เส้นขอบฟ้าใหม่ของการเรียนรู้ภาษาสเปน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง “มองผู้หญิงลาตินอเมริกันในสื่อ สู่เส้นขอบฟ้าใหม่ของการเรียนรู้ภาษาสเปน (A Look at Latin American Women’s Presence in the Media towards a New Horizon to Learn Spanish)” โดยวิทยากร อาจารย์ฐิติพงษ์ ด้วงคง นักวิชาการด้านสตรีศึกษา ลาตินอเมริกาศึกษา อาจารย์ภาษาสเปนและ Pageant expert ในวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00น.-15.00น. เข้าร่วมฟังบรรยายออนไลน์ผ่าน Zoom โดยการสแกน QR Code หรือเข้าผ่านลิงค์ https://bit.ly/3ijfhtN ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ต้องลงทะเบียน