สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย คลินิกเวชกรรม สจล. เปิดให้คำปรึกษาสุขภาพใจออนไลน์ หลังวิกฤตสุขภาพ-วิกฤตเศรษฐกิจกระทบ เกิดความเครียดสะสมในกลุ่มนักศึกษาและบุคลากร โดยมีนักจิตวิทยาคอยรับฟัง พร้อมให้คำปรึกษา เพื่อเป็นกองหนุนทางด้านจิตใจนักศึกษาในช่วงปิดสถาบันและเรียนออนไลน์ 100% พร้อมแนะ 4 แนวทางขจัดและบรรเทาความเครียดสะสมช่วงโควิด
แนวทางขจัด ความเครียดสะสม สำหรับนักศึกษา ช่วงโควิด-19
ดร.ปุณณดา จิระอานนท์ อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ และนักจิตวิทยาประจำคลินิกเวชกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. โดย คลินิกเวชกรรม สจล. ได้เปิดให้บริการทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์มานานกว่า 4 ปี โดยพบว่า เฉพาะช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีทั้งนักศึกษา บุคลากรรายบุคคลและรายกลุ่ม ติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาจำนวนมากกว่า 570 ครั้ง ซึ่งปัญหาที่พบโดยส่วนใหญ่ คือ ปัญหาทางด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อน ปัญหาภายในครอบครัว ฯลฯ ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการขจัดหรือลดทอนความเครียดสะสม จึงมีข้อแนะนำการใช้ชีวิตใน 4 แนวทาง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1.จัดสรรเวลาให้แมชต์กับไลฟ์สไตล์
Time Management: จัดสรรเวลาให้แมชต์กับไลฟ์สไตล์ การจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตนเอง จะช่วยสร้างความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดของตนเองได้เป็นอย่างดี เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือเป็นงานอดิเรกอื่น ๆ
2. ค้นหาประสบการณ์ใหม่
Explore Activities: ค้นหาประสบการณ์ใหม่ ด้วยการลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยทำ เพราะในช่วงนี้เป็นจังหวะดีที่นักศึกษาจะมีเวลาในการทำสิ่งใหม่ ที่อาจจะทำให้ค้นพบทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีหรือไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ฝึกตกแต่งภาพ/ตัดต่อวิดีโอ หรือลองผันตัวเขียนบล็อกเกอร์รีวิวสถานที่เที่ยว ฯลฯ
3. ปันเวลาช่วยเหลือผู้อื่น
Helping & Sharing: ปันเวลาช่วยเหลือผู้อื่น เพราะเชื่อว่าการให้ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งการแบ่งปันเวลาไปช่วยเหลือผู้อื่นในทางที่ตนเองถนัด ผ่านการกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น เช่น การอ่านหนังสือเสียง เพื่อคนตาบอด ที่นอกจากจะได้ฝึกทักษะการพูด การใช้เสียงแล้ว ช่วยสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง หรือเลือกต่อยอดไปสู่การพูดจัดรายการวิทยุออนไลน์ อย่าง ‘พอดแคสต์’ (Podcast) หรือคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ฯลฯ
4. ปรับมุมคิดเชิงบวก
Positive Thinking: ปรับมุมคิดเชิงบวก สำหรับปัญหาความเครียด สิ่งที่จะแก้ไขได้ดีที่สุดคือ “ตนเอง” การปรับความคิดให้มองถึงข้อดีในสถานการณ์ดังกล่าว สิ่งที่ได้มากขึ้นคือ “เวลา” ที่สามารถใช้ในการทำประโยชน์ต่างๆเพื่อตนเองและคนรอบข้างได้ ดังนั้น ในช่วงวิกฤตที่นักศึกษาต้องอยู่ที่บ้านเป็นเวลาหลายเดือน ให้มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้มีเวลาให้ตนเองและครอบครัว มีเวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ก่อนกลับมาทำให้ที่เรียนหนังสือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นักศึกษาหรือบุคลากรที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเพื่อนัดหมายหรือขอรับให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้ที่
- www.facebook.com/GrowthMindCentre
- หรือสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ https://office.kmitl.ac.th/osda/consulting-service
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกเวชกรรม สจล. คณะแพทยศาสตร์ โทรศัพท์ 02 329 8143 หรือ 02 329 8000 ต่อ 3633 หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของคลินิกได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ เสิร์ช “ศูนย์การแพทย์ สจล. KMITL Medical Centre เว็บไซต์ http://medicalcenter.kmitl.ac.th หรือติดต่อแอดมิน สจล. ผ่าน http://www.facebook.com/kmitlofficial