Beautiful Death CHULA MOOC การตายอย่างมีคุณภาพ คอร์สเรียนออนไลน์ เรียนออนไลน์

Beautiful Death การตายอย่างมีคุณภาพ วิชาที่เรียนเพื่อให้เข้าใจชีวิต “เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม?”

เพราะทุกชีวิตมีความตายเป็นที่สุด จุฬาฯ เปิดวิชา Beautiful Death เพื่อการเข้าใจชีวิตผ่านมุมมองการตายอย่างมีคุณภาพ คอร์สใหม่จาก Chula MOOC

Home / CAMPUS / Beautiful Death การตายอย่างมีคุณภาพ วิชาที่เรียนเพื่อให้เข้าใจชีวิต “เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม?”

เพราะทุกชีวิตมีความตายเป็นที่สุด จุฬาฯ เปิดวิชา Beautiful Death เพื่อการเข้าใจชีวิตผ่านมุมมองการตายอย่างมีคุณภาพ คอร์สใหม่จาก Chula MOOC เปิดแล้วสำหรับผู้สนใจ

วิชา Beautiful Death ตายอย่างมีคุณภาพ รับรู้คุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่

“การตายอย่างมีคุณภาพ” (Beautiful Death) วิชาออนไลน์ล่าสุดจาก Chula MOOC ที่จะพาผู้เรียนไปตีสนิทกับความตาย โดยเฉพาะความหมายของ “การตายดี” หรือตายอย่างมีคุณภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อ “คนเป็น” ที่จะได้รับรู้คุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ โดยวิชานี้ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 พอถึงปี 2560 จึงได้เปิดเป็น “วิชาการศึกษาทั่วไป” (GenEd) และด้วยกระแสความสนใจอย่างล้นหลามและต่อเนื่องจากผู้เรียน ปัจจุบันจึงได้เปิดเป็นคอร์สออนไลน์ทาง Chula MOOC เพื่อให้ผู้สนใจทั่วไปได้ร่วมเรียนรู้ด้วย

“การตาย” ในทัศนะของคนยุคนี้

“เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม?”

คำถามง่ายๆ แต่กลับหาคำตอบได้ยากเย็น โดยเฉพาะในยามที่ชีวิตกำลังถูกทดสอบจากอุปสรรคสารพัดที่ประดังเข้ามา รวมทั้งช่วงเวลานี้ วันที่ผู้คนทั่วโลกกำลังประสบเภทภัยจากการแพร่ระบาดหนักของ เชื้อไวรัสโคโรน่าอย่างไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเร็ววัน
การพลัดพรากตายจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ นาที ขณะที่ครอบครัวนับล้านล้วนต้องก้าวผ่านการสูญเสียด้วยความเศร้าโศก ญาติสนิทมิตรสหายที่เคยเห็นหน้าต้องจากกันโดยไม่ทันร่ำลา ประสบการณ์ “การตาย” ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกวัน ทั้งปรากฏผ่านภาพข่าวรายวันและรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากทางการ การรับข่าวสารเช่นนี้เป็นประจำย่อมทำให้ภาพการตายถูกลดทอนเหลือเพียงข้อมูลเชิงสถิติ หรือไม่ก็ถูกตรึงความหมายกลายเป็นเพียงสภาวะชวนขนลุกกระตุ้นต่อมความกลัว

“โดยพื้นฐานแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์กลัวที่สุด”

ศ.ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงปฏิกิริยาของมนุษย์ต่อการตาย “ยามป่วยไข้ มนุษย์ก็จะดิ้นรนรักษา ยามประสบภัยก็จะต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ความกลัวตายเป็นอาการของมนุษย์ปกติเช่นเดียวกับสัตว์โลกอื่นๆ”
ทัศนะต่อประสบการณ์การตายกับความหมายของการมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันถูกจำแนกแยกขาด ออกจากกันเด็ดขาด ชีวิตผู้คนวันนี้เหินห่างจากการเรียนรู้เรื่องการตายจนกระทั่งภาพการตายกลายเป็นโลก คู่ตรงข้ามกับการมีชีวิต ทั้งๆ ที่ความเชื่อเดิม การตายและการมีชีวิตอยู่เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน “การเปิดมุมมองเรื่องความตายว่าไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความสำคัญต่อการค้นหาความหมายหรือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่” ศ.ดร.เอมอัชฌา กล่าวถึงความตั้งใจในการเปิดสอนวิชา Beautiful Death

การตายอย่างมีคุณภาพคืออะไร

ศ.ดร.เอมอัชฌา อธิบายคุณลักษณะของการตายอย่างมีคุณภาพว่าหมายถึง “การตายอย่าง สมศักดิ์ศรี ตายในวัยที่เหมาะสม” หรือไม่ตายก่อนวัยอันควร

แล้วการตายอย่างสมศักดิ์ศรี ตายอย่างไร

“ขณะใกล้ตายก็ควรมีคนในครอบครัว ญาติหรือเพื่อนสนิท คอยอยู่เคียงข้างเพื่อเป็นกำลังใจให้เราข้ามผ่านช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต และหลังจากไปก็มีคนระลึกถึง เพราะฉะนั้น ช่วงที่เรามีชีวิตอยู่จึงสำคัญ ถ้าปรารถนาการตายอย่างมีคุณภาพ ตายอย่างสมศักดิ์ศรี เราจำเป็นต้องประพฤติตนหมั่นทำความดีเพื่อให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ระลึกถึง”

วิชาการตายดี จึงเป็นการชวนผู้เรียนร่วมค้นหาคุณค่าในตน มองเห็น “คุณค่าของชีวิต” เพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติตื่นรู้และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รู้จักจัดการปัญหาชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสมกับบริบทแวดล้อมและเหตุปัจจัย ไม่วุ่นวายสับสนตามสถานการณ์จะพาไปจนเกิดความอลหม่านภายในใจ

การตายอย่างมีคุณภาพจึงต้องเริ่มฝึกฝนตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ หมั่นบ่มเพาะความคิดและพฤติกรรมเชิงบวก ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อโลกและเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่พอใจหรือตรงข้าม เสมือนหางเสือเรือที่จะทำหน้าที่กำกับวิจารณญาณและทิศทางการเลือกใช้ชีวิต รวมทั้งช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ

สาระวิชาตายดี

กว่าสิบปีแล้วที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนวิชานี้ซึ่งทุกครั้งก็จะได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนิสิตที่มาลงทะเบียนเรียนกันจนเต็มทุกที่นั่ง รวมทั้งครั้งที่เริ่มเปิดการเรียนการสอนออนไลน์บน Chula MOOC เมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งนิสิตก็แสดงความสนใจลงทะเบียนเรียนอย่างล้นหลามเช่นเดิม

ทำไมวิชา Beautiful Death จึงได้รับความสนใจมากมาย

คำตอบน่าจะเป็นเพราะเนื้อหาการเรียนการสอนตั้งแต่ก่อนหน้านี้ที่ผู้สอนจะชวนนิสิตทำความรู้จักตัวเองผ่านการเขียนความรู้สึก (Journal Writing) ฝึกใคร่ครวญกับความนึกคิดของตนภายหลังรับรู้ข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน และทดลองตรวจจับอารมณ์ภายในใจ สังเกตความเมตตาที่ปรากฏ แล้วสร้างสรรค์สื่อ เช่น โปสการ์ด เพื่อแสดงความรู้สึกต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น
จากแบบฝึกหัดเบื้องต้นก็จะนำไปสู่บททดสอบที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อาทิ การฝึกควบคุมอารมณ์ภายในใจของผู้สูญเสีย การเตรียมตัวเผชิญความตายและความจริงของชีวิตตามลำดับขั้นตอน และปิดท้ายด้วยการสะท้อนความในใจที่ผุดขึ้นระหว่างเรียน คล้ายการสำรวจจิตใจตัวเองที่สั่นไหวไปตามข่าวสารหรือความคิดความเชื่อที่ผ่านเข้ามากระทบภายใน

นอกจากนี้ นิสิตยังได้ชมภาพยนตร์มากมายที่เกี่ยวกับการตายในสังคมอื่น ทั้งนี้เพื่อทำความรู้จักกับความตายในมิติวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างจากเรา เช่น สังคมชาวลาวจะไม่นิยมแต่งกายด้วยชุดดำไปร่วมงานศพเนื่องจากไม่มีความเชื่อที่เชื่อมโยงระหว่างสีดำกับการตาย และความหมายของการตายในโลกทัศน์ของชาวลาวก็ไม่ใช่การสูญเสีย เป็นต้น

สิ่งที่ทำให้วิชา Beautiful Death การตายอย่างมีคุณภาพเป็นวิชาท็อปฮิตติดใจหลายคน ไม่ใช่เพราะเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความตายและการตายที่หลากหลายและน่าสนใจเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่ วิชานี้ได้ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนมุมมองและชีวิตของตัวเอง “ผู้เรียนจะได้เติบโตไปพร้อมกับการเรียนวิชานี้ เช่นเดียวกับตัวอาจารย์เอง เราจะได้เห็นคุณค่าชีวิตตนเองและผู้อื่น ตระหนักในความหมายของการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้ตายอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ศ.ดร.เอมอัชฌา กล่าวทิ้งท้าย