สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำสำเร็จครั้งแรก! เปิดตัวต้นแบบ “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูง ที่มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือโควิดระลอกใหม่โดยเฉพาะ และมีราคาถูกกว่านําเข้า 3-4 เท่า
เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow ออกแบบมาเพื่อรับมือโควิดระลอกใหม่โดยเฉพาะ
โดยระบบดังกล่าวมีจอแอลซีดีแสดงข้อมูลสำคัญของผู้ป่วย ทั้งอัตราการไหลของอากาศ ปริมาณออกซิเจน อุณหภูมิของอากาศ ผลออกซิเจนในกระแสเลือด ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการช่วยพยุงการหายใจของผู้ป่วยปอดอักเสบ และภาวการณ์หายใจบกพร่อง ยังช่วยให้แพทย์ติดตามภาวะการหายใจล้มเหลวได้ตลอดเวลา สามารถปรับการทำงานของเครื่องได้ โดยไม่ต้องเข้าไปดูผู้ป่วยถึงเตียง หนุนเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในพื้นที่เสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีต้นทุนในการพัฒนาที่ 55,000 บาท โดยปัจจุบันมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรสู่เชิงพาณิชย์กับสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRiS)
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. ได้เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 นับตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการคิดค้นและลงมือสร้าง “เครื่องช่วยหายใจ” ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในผู้ป่วยอาการหนัก ผ่านการผนวกรวมศาสตร์ความรู้ทางการแพทย์และวิศวกรรม โดยเริ่มที่เครื่องช่วยหายใจในภาวะฉุกเฉิน (Mini Emergency Ventilator) เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อในปอดในภาวะฉุกเฉิน ทั้งอยู่ระหว่างการส่งตัวหรือรอเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจของโรงพยาบาล และต่อเนื่องกับเครื่องช่วยหายใจในภาวะฉุกเฉินขนาดเล็ก (Transport Ventilator – KNIN) ที่ออกแบบให้สามารถใช้งานง่าย สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายในกรณีฉุกเฉิน อีกทั้งยังรองรับการทำงานได้หลายโหมด ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาออกมารวม 4 รุ่น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สจล. ได้ส่งมอบนวัตกรรมทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศมากกว่า 350 แห่ง เป็นจำนวนกว่า 1,000 ชิ้น
ล่าสุด นักวิจัย สจล. ได้คิดค้นและพัฒนาต้นแบบ “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูงเป็นครั้งแรก ที่มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ให้น้อยลง ลดภาระงานและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเดินเข้า-ออกบริเวณหอผู้ป่วย ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนอื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และในอนาคตอันใกล้นี้ สจล. ยังมีแผนพัฒนา “ตู้เก็บวัคซีน” ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและคงประสิทธิภาพของวัคซีน โดยที่บุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สามารถติดตามอุณหภูมิภายในตู้ได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของสถาบัน ในฐานะ The World Master of Innovation สู่การขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและการแพทย์ไทย ภายใต้แนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้และเริ่มต้นใช้ชีวิตวิถีใหม่ไปพร้อมกัน
นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยร่วม “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” กล่าวเสริมว่า เครื่องดังกล่าวมีคุณสมบัติเพื่อช่วยพยุงการหายใจของผู้ป่วย โดยแพทย์จะกำหนดอัตราไหลเวียนอากาศ ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ต้องการ ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ก่อนปล่อยผ่านทางจมูก (Nasal Cannula) ได้อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอากาศที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนที่แน่นอน ถูกต้อง ป้องกันการหายใจซ้ำจากอากาศที่ค้างอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน
ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานเครื่องจ่ายออกซิเจนอัตราการไหลสูง อีกทั้งยังมีความพิเศษเพิ่มเติม คือ ได้พัฒนาเทคโนโลยีไอโอที (IoT) เข้ามาทำงานร่วม ซึ่งช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุม และติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยทางไกลได้ตลอดเวลา โดยสามารถปรับเปลี่ยนการช่วยการหายใจได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชัน โดยไม่ต้องเดินไปถึงข้างเตียง ซึ่งนอกจากจะประเมินผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ยังลดการใช้ชุด PPE และลดความเสี่ยงของบุคลากรต่อการติดเชื้อทางอากาศเมื่อเดินเข้าหอผู้ป่วย นอกจากนี้ เครื่องดังกล่าว ยังมาพร้อมระบบเสียงแจ้งเตือนเมื่อผู้ป่วยมีภาวะออกซิเจนต่ำเกินไป
“และในอนาคตอันใกล้ ทีมวิจัยเตรียมพัฒนาเครื่องดังกล่าว ให้สามารถวิเคราะห์หรือปรับความความเข้มข้นของออกซิเจนได้ ตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะออกซิเจนในเลือด ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) ในเครื่องมือแพทย์อนาคตของ สจล. ทุกชิ้น เพื่อรองรับการแพทย์ทางไกล (Telehealth)”
รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร
ลาดกระบัง (สจล.) กล่าวต่อเนื่องว่า การพัฒนา “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” เน้นการออกแบบให้ ตอบโจทย์การใช้งานได้ทั้งในโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยมีหลักการนำอากาศจากแหล่งกำเนิดออกซิเจนไม่ว่าจะเป็นท่อนำออกซิเจนหรือแทงค์ออกซิเจน 100% มาผสมกับอากาศสะอาด (ออกซิเจน 21%) ผสมกันได้ความเข้มข้นที่ต้องการในห้องผสมอากาศ (Air Tank) โดยหากใช้อากาศจากในหอผู้ป่วยก็จะมีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter ซึ่งเมื่ออากาศถูกดูดเข้าสู่ห้องผสมอากาศ จะมีวาล์วจ่ายออกซิเจนที่ถูกควบคุมแบบป้อนกลับเพื่อควบคุมให้อัตราออกซิเจนคงที่เป็นไปตามการรักษา โดยปรับได้ในช่วง 21-100% ความแรงของพัดลมจะถูกควบคุมด้วยเซนเซอร์วัดอัตราการไหล ซึ่งจะถูกควบคุมให้อยู่ในช่วง
10-80 ลิตรต่อนาที นอกจากนี้ ค่าพารามิเตอร์ดังกล่าว สามารถตั้งค่าได้ทั้งทางหน้าจอแอลซีดี (LCD) แบบสัมผัส (Touch Screen) และแอปฯ ผ่านการเชื่อมต่อด้วยระบบ Wi-Fi
ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีต้นทุนการพัฒนาที่ 55,000 บาท ซึ่งถูกกว่าการนําเข้า 3-4 เท่า หรือประมาณ 200,000 – 300,000 บาท โดยปัจจุบันมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรสู่เชิงพาณิชย์กับสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRiS)
ด้าน รศ. นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และผู้อํานวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) กล่าวทิ้งท้ายว่า จากรายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิดสะสมในประเทศไทยที่สูงถึง 254,204 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564) โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,147 ราย ผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 616 ราย และมีผู้เสียชีวิต 44 ราย (ที่มา: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), วันที่ 4 กรกฎาคม 2564) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยทุก ๆ 1 พันรายจะมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ 30 ราย ทำให้ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจและเตียงผู้ป่วยวิกฤตจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขณะนี้ที่มีความขาดแคลนอย่างหนัก อีกทั้งการใช้เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูงสำหรับผู้ป่วยสถานะสีแดงถึงแดงเข้ม คือ เสี่ยงต่อการหายใจล้มเหลวจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จะยังสามารถพยุงการหายใจโดยผู้ป่วยสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง ในรายที่พยาธิสภาพปอดดีขึ้นจะลดระดับการให้ออกซิเจนในรูปแบบของหน้ากากหรือท่อจมูกตามปกติ ซึ่งลดความจำเป็นของการใช้เตียงผู้ป่วยวิกฤต
ดังนั้น หากผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่คิดและพัฒนาโดยนักวิจัยจากภาคการศึกษาไทย ได้รับการสนับสนุนงบฯ ลงทุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการผลิตและกระจายสู่โรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขที่มีความขาดแคลน จะสามารถช่วยลดมูลค่าการนําเข้าได้จำนวนมาก พร้อมทั้งสร้างโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของคนไทยในอนาคต สำหรับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ตลอดจนภาคประชาชนที่สนใจ สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยให้รุดหน้ายิ่งขึ้นในภาวะวิกฤตโควิด-19 ผ่านการบริจาคเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เพื่อสู้ภัยโควิด” เลขที่ 693-0-35455-4 โดยผู้บริจาคสามารถนําใบเสร็จไปขอลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า
ผู้สนใจขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสามารถติดต่อได้ที่ สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRiS) โทร. 086-825 5420, 085-382 0960 ทั้งนี้ กิจกรรมการเปิดตัวพร้อมสาธิต “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” รวมถึงสาธิตการทำงานของเครื่องช่วยหายใจ KNIN ทั้งสี่รุ่น โดยผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ สจล. ได้ที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial และ http://kmitl.ac.th
KMITL #สจล #แพทย์ลาดกระบัง #วิศวลาดกระบัง #เครื่องจ่ายออกซิเจนKMITLHighFlow #จะทำก็ทำได้ #ทีมลาดกระบัง #JCCOTH