รุกขกร อาชีพ อาชีพทำเงิน

‘รุกขกร’ อาชีพนักตัดแต่งต้นไม้ รายได้สูงสุดถึงหลักแสน ต้องทำยังไงถึงจะได้ทำอาชีพนี้

รุกขกร’ อาชีพที่หลายคนในไทยอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก ทำงานเกี่ยวกับการตัดแต่งต้นไม้ แต่ก็ต้องมีทักษะและความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ด้วย รายได้มากถึงหลักแสน

Home / CAMPUS / ‘รุกขกร’ อาชีพนักตัดแต่งต้นไม้ รายได้สูงสุดถึงหลักแสน ต้องทำยังไงถึงจะได้ทำอาชีพนี้

‘รุกขกร’ อาชีพที่หลายคนในไทยอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก เป็นอาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับการตัดแต่งต้นไม้ ดูแลต้นไม้ แต่ก็ต้องมีทักษะและความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ด้วย รายได้มีโอกาสได้มากถึงหลักแสน ในบทความนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนี้มาให้ได้รู้จักกันมากขึ้น จากการสัมภาษณ์ ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนไทยที่ได้ใบรับรองอาชีพรุกขกร ระดับนานาชาติ จาก ISA สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ

รู้จักอาชีพ ‘รุกขกร’ อาชีพนักตัดแต่งต้นไม้ รายได้สูงถึงหลักแสน

‘รุกขกร’ ไม่ใช่เพียงคนที่ปีนต้นไม้แล้วตัด แต่ต้องรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับต้นไม้

ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนไทยที่ได้ใบรับรองอาชีพรุกขกร ระดับนานาชาติ จาก ISA สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ เผยว่า ที่ไทยใครจะเรียกตัวเองว่าเป็น ‘รุกขกร’ ก็สามารถเรียกได้ เพราะไม่มีการสอบ การประเมินคุณภาพ และคุณสมบัติ คือใครที่สามารถตัดต้นไม้ใหญ่ได้ก็เรียกว่า ‘รุกขกร’ แต่จริงๆ แล้วคำว่า ‘รุกขกร’ มีความหมายหรือขอบเขตของการทำงานที่กว้างกว่านั้น ไม่ใช่แค่คนที่ปีนต้นไม้แล้วตัด แต่ต้องเป็นคนที่รู้จักต้นไม้ในทุกสภาพ ไม่ว่ามันจะอยู่ในป่าหรือในเมือง การใช้ชีวิตอยู่ของต้นไม้ การดูแล ปัญหาของต้นไม้ ขั้นตอนการตัด ซึ่งการตัดเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของวิชาชีพ แต่รุกขกรที่แท้จริงต้องรู้ไปจนถึงว่าถ้าต้นไม้ตายจะเอาออกไปยังไง รวมไปถึงการป้องกันอันตรายระหว่างที่มันมีชีวิตอยู่ด้วย

รายได้ของ ‘รุกขกร’ หลักหมื่นถึงหลักแสนต่องาน

รุกขกร เป็นวิชาชีพที่ต้องมีความรู้ที่เฉพาะมาก ดร.พรเทพ ให้ข้อมูลว่า ค่าตัวในการจ้างต่องานนั้นอยู่ในระดับหลักหมื่นถึงหลักแสนต่อหนึ่งงานที่ได้รับ ธุรกิจโรงแรมหรือบริษัทต้องการคนมาทำงานด้านรุกขกรที่มีมาตรฐานจริงๆ ค่อนข้างเยอะ แต่ขณะนี้ต้องจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศ เนื่องจากในไทยมีน้อย ถ้าที่ไทยมีมาตรฐานมากกว่านี้ เชื่อว่าองค์กรต่างๆ ที่ต้องการก็พร้อมจะจ้าง

‘รุกขกร’ ในไทยมีเพียงหลักสิบคนที่เป็นวิชาชีพจริงๆ

ในประเทศไทยมีรุกขกรที่เป็นวิชาชีพจริง ๆ เพียงหลักสิบคน หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ส่วนที่เหลือคือคนที่ปีนตัดต้นไม้เท่านั้น ซึ่งรุกขกรในต่างประเทศต้องผ่านการเรียนสาขาด้านรุกขกรโดยตรง 4 ปี เทียบเท่าปริญญาตรี ในบ้านเราสาขาที่ใกล้เคียงที่สุดคือวนศาสตร์ แต่ก็ยังไม่ใช่วิชารุกขกรโดยตรง หากลองนึกย้อนไปหลายคนคงเคยได้ยินข่าวต้นไม้ล้มในไทยบ่อยครั้ง หากมีรุกขกรที่มีความรู้ด้านนี้จริง ๆ ในบ้านเรา ข่าวพวกนี้จะน้อยมาก

ต้นไม้เป็นหน้าตาของเมือง ความสวยงาม ร่มรื่น เรียบร้อย คนเราขาดต้นไม้ไม่ได้ พื้นที่สีเขียวสำคัญอย่างมาก ซึ่งพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ สัดส่วนต่อคนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเมืองที่เจริญแล้วของโลก การที่มันน้อยอยู่แล้ว กลับไม่มีคนดูแล ก็จะทำให้คุณภาพไม่ดี เมื่อไม่มีคุณภาพพอเราอยากพักผ่อนก็ได้การพักผ่อนที่ไม่ดีตามไปด้วย เพราะเราขาดบุคลากรด้านนี้ จึงทำให้พื้นที่สีเขียวเรายังไม่ดีพอ

ปัจจุบันสื่อเข้าถึงง่าย เมื่อมีข่าวต้นไม้ล้มเกิดอันตรายต่อคน คนก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้น เริ่มมีการตระหนักถึงความสำคัญของมัน ทำให้มีกลุ่มคนรักต้นไม้ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดกระแส สังคมก็ได้หันมามองเห็นลู่ทางในการประกอบอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างประโยชน์และสำคัญไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่น

ล่าสุดในไทยก็เพิ่งได้ก่อตั้ง “สมาคมรุกขกรรมไทย” โดยกลุ่มนี้ตั้งขึ้นมา เพื่อจะสร้างมาตรฐานของรุกขกรในประเทศไทย ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของอาชีพรุกขกรมากขึ้น

เผยประสบการณ์ฝึกงานด้านรุกขกรของนักศึกษา

นอกจากนี้ ทีม MThai News ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายธนวุฒิ ขุนเอียด และนางสาวสายธาร บัวทอง ศิษย์เก่าคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อาชีพรุกขกร รับตัดแต่งต้นไม้ในเมือง เปิดเผยถึงประสบการณ์ด้านรุกขกรว่า

ตนได้มีโอกาสฝึกงานด้านรุกขกรในช่วงที่เรียนอยู่ จึงมีความคิดที่อยากให้คณะมีชมรมทางด้านนี้ จึงได้ตั้งชมรม “ku รุกขกร” ขึ้น จากนั้นได้อบรมและฝึกงานด้านรุกขกรมาเรื่อยๆ จนมีความชำนาญในระดับนึง ก็รับงานด้านรุกขกรตัดแต่งต้นไม้ตั้งแต่นั้นมา

เนื่องจากทั้งคู่อยากทำงานเป็นนายตัวเอง เมื่อเรียนจบจึงเลือกมาทำอาชีพรุกขกรอย่างเต็มตัว โดยการเป็นหุ้นส่วนกับรับตัดแต่งต้นไม้ ซึ่งได้ใช้ความรู้จากสิ่งที่เรียนและประสบการณ์การอบรมด้านรุกขกร มาใช้ในการทำงานตัดแต่งต้นไม้ให้กับลูกค้า สร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังมีแพลนที่จะไปสอบ ISA เพื่อให้ได้การรับรองด้านรุกขกรอย่างจริงจังอีกด้วย ขณะนี้ขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากกว่านี้ก่อน

กว่าจะเป็นรุกขกร ต้องมีทักษะหลายอย่าง เริ่มจากชื่อต้นไม้ มีระบบนิเวศวิทยาแบบไหน รูปทรงของต้นไม้เป็นแบบไหน ต้องตัดให้ถูกต้องกับชนิดนั้นๆ ซึ่งการตัดแต่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของศาสตร์ด้านนี้ “รุกขกร” มีหน้าที่ดูแลต้นไม้ ให้ต้นไม้อยู่รอดต่อไป การตัดแต่งคือการช่วยไม่ให้ต้นไม้เกิดอันตรายต่อคนหรือตัวต้นไม้เอง

การสอบให้ได้ใบรับรอง ISA จากสมาคมรุกขกรรมนานาชาติ

  • ต้องมีการจบการศึกษาคณะอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับต้นไม้ อาทิ วนศาสตร์ พฤกษศาสตร์ พืชสวน
  • มีประสบการณ์การทำงานจริงๆ เกี่ยวข้องกับงานรุกขกรอย่างน้อย 2 ปี
  • ขั้นตอนการสมัครนั้น ต้องยื่นโปรไฟล์ไปก่อน ทางสมาคมจะตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่
  • หากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยจะถูกเรียกไปสอบข้อเขียน
  • สอบข้อเขียนด้านต้นไม้โดยตรง ซึ่งมีความยาก หากไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรง ซึ่งหากคนไทยสนใจไปสอบต้องเดินทางไปสอบยังประเทศที่มีการสอบอย่างจริงจัง เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือแถบยุโรป ข้อสอบจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
  • เมื่อสอบข้อเขียนผ่าน Arborist ก็จะได้ใบรับรองจาก ISA เลย แต่ยังมีอีกส่วนคือ Tree Worker Climber คือคนทำงานบนต้นไม้ ก็จะต้องผ่านทั้งข้อเขียนและภาคปฏิบัติ ต้องปีนต้นไม้สอบตัดต้นไม้ด้วย

นับเป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจ และในประเทศไทยยังถือว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพนี้จำนวนน้อย