นายณัชธรณ์ อุลิศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการแข่งขันรายการระดับโลก Toyota Logistic Design Competition 2020 โจทย์คือ แก้ปัญหาการลำเลียงกระเป๋าเดินทางผ่านสายพานในสนามบิน มีผู้เข้าร่วมประกวดทั้งหมด 2,400 ผลงาน จาก 123 ประเทศทั่วโลก
สุดยอดคนเก่ง! นศ.สถาปัตย์ฯ มจธ. คว้ารองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดออกแบบระดับโลก แก้ปัญหาการลำเลียงกระเป๋าเดินทางผ่านสายพานในสนามบิน
และยังเป็นนักศึกษาหนึ่งเดียวในเอเชียที่สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันในรายการระดับโลกนี้มาครองได้สำเร็จ ด้วยการนำเสนอผลงาน “ULISS” Mobile Baggage System ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการจัดการสัมภาระผู้โดยสารภายในสนามบิน ตั้งแต่การเช็คอินไปจนถึงการจัดการสัมภาระและการขนส่งไปยังอาคารผู้โดยสาร ไปยังเครื่องบินและ/หรือการมาถึงปลายทาง ตลอดจนแก้ปัญหาความเร็วในการรับกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสาร ป้องกันการสูญหาย และป้องกันความเสียหายที่เกิดจากสายพานลำเลียง โดยได้รับรางวัลเงินสด 2,000 ยูโร พร้อมใบประกาศนียบัตร และโอกาสในการศึกษาเรียนรู้งานกับ Toyota Material Handling Design Center ในยุโรป เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 2,400 ผลงาน จาก 123 ประเทศทั่วโลก
“ULISS” ถูกออกแบบขึ้น ภายใต้แนวคิด eco-friendly ระบบสายพานลำเลียงออกแบบเป็นทรงกลม ด้านบนหลังคาดีไซน์เป็นแอ่งกระทะสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เน้นการใช้ประโยชน์จากแสงจากธรรมชาติเป็นหลัก พร้อมนำเสนอไอเดียโดยใช้ Boarding pass ที่มี QR Code เพื่อสามารถสแกนรับสัมภาระได้ทันทีจากระบบสายพานลำเลียง ช่วยลดขั้นตอนในการเดินหาสายพานหรือรอรับสัมภาระจากสายพานเป็นเวลานาน นอกจากนั้นแล้วสายพานลำเลียงถูกออกแบบให้เคลื่อนย้ายได้ จึงสะดวกต่อการใช้งานแม้ในพื้นที่จำกัดหรือภายในสนามบินขนาดเล็ก อีกทั้งยังส่งผลต่อการออกแบบสนามบินในอนาคต เพราะ ULISS ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อนทำให้รูปแบบการออกแบบสนามบินมีการเปิดช่องรับแสงอาทิตย์มากขึ้น ส่งผลให้สนามบินมีความโปร่งและสวยงาม นอกเหนือจากรูปลักษณ์ที่ดูโดดเด่นแล้ว “ULISS” ยังมีระบบแอปพลิเคชันบนมือถือที่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสถานะของสัมภาระด้วยตนเองได้อย่างง่ายดาย และยังรองรับการค้นหาข้อมูลการเดินทางอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลให้ทั่วโลกมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดหลากหลายวิธี อาทิเช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) โดย ULISS ซึ่งเป็นจุดรับสัมภาระอัจฉริยะที่มีลักษณะเป็นวงกลม นักเดินทางสามารถเข้ารับสัมภาระพร้อมกันได้มากถึงครั้งละ 12 คน โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการยืนแออัดกันในจุดใดจุดหนึ่ง เนื่องจากมีการออกแบบให้มีระยะห่างระหว่างกันในแต่ละจุด อีกทั้งตัวเครื่อง ULISS ถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ได้ จึงสามารถนำไปใช้งานได้ในทุกพื้นที่ภายในสนามบิน ช่วยลดความเเออัดของผู้โดยสารที่รอรับกระเป๋า/สัมภาระ และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเเพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ การแข่งขันในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้จัดงาน Toyota Material Handling Europe (TMHE) ได้เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาด้านการออกแบบและบัณฑิตใหม่จากทุกประเทศทั่วโลกส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จากเดิมที่จัดการแข่งขัน และเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมแข่งขันเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปเท่านั้น