พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หลวงพ่อใหญ่

ตำนาน พระพุทธชินราช และคาถาบูชาขอพรสุขภาพและครอบครัว

คนในพื้นที่จะเรียก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร ว่า วัดใหญ่ ส่วน พระพุทธชินราช เรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ อันเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่คนพิษณุโลก

Home / พิษณุโลก / ตำนาน พระพุทธชินราช และคาถาบูชาขอพรสุขภาพและครอบครัว

พระพุทธชินราช ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่าและที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย โดย กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 หน้า 1526 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และ กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเป็นพระพุทธรูปสำคัญ ตามบัญชีแนบท้ายระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520

ซึ่งคนในพื้นที่จะเรียก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ว่า วัดใหญ่ ส่วน พระพุทธชินราช เรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ อันเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่คนพิษณุโลก โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมขอพรให้หายป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ บ้างก็ขอให้ช่วยปกป้องคุ้มครองครอบครัวให้มีความสุขและสุขภาพแข็งแรง

ตำนาน พระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช

ข้อมูลการสร้างพระพุทธชินราช ยังมี 2 แหล่งที่มา บ้างก็ว่าสร้างเมื่อราวจุลศักราช 319 (พ.ศ. 1500) แต่อีกแหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่าสร้างเมื่อราวจุลศักราช 719 (พ.ศ. 1900) ซึ่งตำนานที่อ้างถึงพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในจุลศักราช 319 (พ.ศ. 1500) นั้น เป็นตำนานที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ว่าด้วยเรื่องพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา และพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) เรื่องพระพุทธชินราช ความว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกผู้ครองนครเชียงแสนได้ยกกองทัพลงมาตีเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งมีพระเจ้าพสุจราชปกครองอยู่ ทหารทั้งสองฝ่ายรบราฆ่าฟันกันตายลงเป็นอันมากมิได้แพ้ชนะกัน พระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่จึงเข้าไกล่เกลี่ยให้พระราชาทั้งสองนี้เป็นสัมพันธไมตรีกัน พระราชาทั้งสองก็ยอมปฏิบัติตาม พระเจ้าพสุจราชได้ทรงยกพระนางปทุมราชเทวีราชธิดา อภิเษกให้เป็นมเหสีแห่งพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีพระราชโอรสด้วยพระนางปทุมราชเทวี 2 พระองค์ ทรงพระนามว่า เจ้าไกรสรราชกับเจ้าชาติสาคร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีพระประสงค์จะป้องกันการรุกรานของชาติขอม ซึ่งขณะนั้นมีอำนาจอยู่ทางละโว้หรืออีกนัยหนึ่งเป็น การแผ่ราชอาณาจักรให้ไพศาลออกไป จึงได้สร้างเมืองพิษณุโลก เพื่อให้ราชโอรสขึ้นครองเมือง

ตามพงศาวดารกล่าวว่าได้สร้างเมืองพิษณุโลกเมื่อจุลศักราช 315 (พ.ศ. 1496) เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ได้เสด็จลงมาอภิเษกเจ้าไกรสรราชขึ้นครองเมือง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนี้ทรงพระปรีชาสามารถแตกฉานพระไตรปิฎกมาก จึงได้รับเฉลิมพระนามาภิไธย ดังนั้น ขณะที่เสด็จประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกที่ได้สร้างขึ้นใหม่ ก็มีพระประสงค์จะบำเพ็ญบุญกุศลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและให้พระเกียรติศัพท์พระนามปรากฏในภายหน้า จึงตรัสสั่งให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นเป็นคู่กับเมือง สร้างพระมหาธาตุเป็นรูปปรางค์สูงราว 8 วา ตั้งกลาง แล้วสร้างพระวิหารรอบปรางค์ทั้งสี่ทิศมีระเบียง 2 ชั้น พระองค์ต้องการจะสร้างพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เพื่อเป็นพระประธานในพระวิหาร

พระปรางค์

ในเวลานั้นที่เมืองศรีสัชนาลัย ทั้งสวรรคโลกและสุโขทัย เป็นที่เลื่องลือปรากฏในการฝีมือช่างต่างๆ ทั้งการทำพระพุทธรูปว่าฝีมือดียิ่งขึ้น จึงมีพระราชสาส์นไปยังกรุงศรีสัชนาลัย เพื่อขอช่างมาช่วยปั้นหุ่นพระพุทธรูป สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัชนาลัยจึงส่งช่างพราหมณ์ที่ฝีมือดี 5 นาย ชื่อบาอินทร์ บาพราหมณ์ บาพิษณุ บาราชสิงห์ และบาราชกุศล พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โปรดให้ช่างสวรรคโลกสมทบกับช่างชาวเชียงแสนและช่างหริภุญชัย ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทั้ง 3 องค์ มีทรวดทรงสัณฐานคล้ายกัน แต่ประมาณนั้นเป็น 3 ขนาด คือ

  • พระองค์ที่ 1 ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่า “พระพุทธชินราช” มีขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอกพระเกศสูง 15 นิ้ว เป็นปางมารวิชัย
  • พระองค์ที่ 2 ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่า “พระพุทธชินสีห์” มีขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว เป็นปางมารวิชัย
  • พระองค์ที่ 3 ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่า “พระศรีศาสดา” มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว เป็นปางมารวิชัย

พระศรีธรรมไตรปิฎกทรงเลือกลักษณะอาการตามชอบพระทัยให้ช่างทำ คือ สัณฐานอาการนั้น อย่างพระพุทธรูปเชียงแสน ไม่เอาอย่างพระพุทธรูปในเมืองศรีสัชนาลัย สวรรคโลก และเมืองสุโขทัยที่ทำนิ้วสั้นยาวไม่เสมอกันอย่างมือคน ทรงรับสั่ง ให้ทำนิ้วให้เสมอกันตามที่พระองค์ทราบว่าเป็นพุทธลักษณะ พระลักษณะอื่นๆ ก็เป็นอย่างเชียงแสนบ้าง อย่าง ศรีสัชนาลัย และสวรรคโลก สุโขทัยบ้าง จวบจนวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 317 ได้มงคลฤกษ์ ทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ และเมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว จึงแกะพิมพ์ออกมา ปรากฏว่า พระองค์ที่ 2 คือพระพุทธชินสีห์ และพระองค์ที่ 3 คือพระศรีศาสดา องค์พระบริบูรณ์ดีมีน้ำทองแล่นติดตลอดเสมอกันสวยงาม 2 องค์เท่านั้น ส่วนรูปพระพุทธชินราชนั้น ทองแล่นติดไม่เต็มองค์ ไม่บริบูรณ์ นับว่าเป็นอัศจรรย์ของช่างและผู้มาร่วมพิธีเป็นอันมาก ช่างได้ช่วยกันทำหุ่น และเททองหล่ออีกถึง 3 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จเป็นองค์พระได้ คือทองแล่นไม่ติดเต็มองค์ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงรู้สึกประหลาดพระทัยยิ่งนัก พระองค์จึงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง อีกทั้งขอให้ทวยเทพเทวดาช่วยดลใจให้สร้างพระพุทธรูปสำเร็จตามพระประสงค์เถิด แล้วให้ช่างปั้นหุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในครั้งหลังนี้ ปรากฏว่ามีตาปะขาวคนหนึ่ง ไม่มีใครทราบว่า ชื่ออะไร เป็นใคร มาจากไหนเข้ามาช่วยปั้นหุ่นและช่วยเททอง ทั้งกลางวันและกลางคืนจนเสร็จโดยไม่พูดไม่จา

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ครั้นได้มหามงคลฤกษ์ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง นพศกจุลศักราช 319 ( นับจากปีพุทธศักราช 1500 หย่อนอยู่ 7 วัน) ก็ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธชินราช คราวนี้น้ำทองที่เทก็แล่นเต็มบริบูรณ์ตลอดทั่วองค์พระ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งให้ ตาปะขาวผู้มาช่วยปั้นหุ่นและช่วยเททองนั้น แต่มิได้พบ ปรากฏว่าเมื่อหล่อพระเสร็จแล้ว ก็เดินทางออกประตูเมืองด้านทิศเหนือ พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หายไปไม่มีใครพบเห็นอีก จึงพากันเข้าใจว่า ตาปะขาวผู้นั้นคือเทพยดาแปลงกายมาหล่อพระพุทธชินราช อันเป็นเหตุให้ เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้น ตำบลบ้านที่ตาปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า “บ้านตาปะขาวหาย” ต่อมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อกะเทาะหุ่นออกคราวนี้ ทองแล่นติดเต็มองค์พระ งดงามสมบูรณ์ เนื้อทองสำริดสุกสกาวสดใส เปล่งปลั่ง งามจนหาที่ติไม่ได้ จึงพากันเชื่อว่าพระพุทธชินราชองค์นี้น่าจะเป็นเทวดามาสร้างให้แน่ๆ ถึงได้มีพุทธลักษณะสวยงาม พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โปรดฯ ให้อัญเชิญเข้าประดิษฐานไว้ใน 3 สถานที่ คือ

  • พระพุทธชินราช อยู่ในพระวิหารใหญ่ผันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก
  • พระพุทธชินสีห์ อยู่ทิศเหนือ ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
  • และ พระศาสดา อยู่ทิศใต้
  • ส่วนพระวิหารใหญ่ทิศตะวันออกนั้น เป็นที่ฟังธรรมสักการะที่ถวายนมัสการพระมหาธาตุและเป็นที่ชุมนุมสงฆ์

อนึ่ง เมื่อเวลาหล่อพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาเสร็จแล้วนั้น ทองชลาบและชนวนของพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ที่เหลืออยู่ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก รับสั่งให้รวมลงในทองซึ่งจะหล่อพระพุทธชินราชหล่อองค์พระใหม่เรียกว่า “พระเหลือ”

ส่วนชนวนและชลาบของพระที่เรียกว่าพระเหลือนั้นก็หล่อรูปพระสาวก 2 องค์ สำหรับพระเหลือนั่นเอง ครั้นเมื่อการหล่อพระเสร็จแล้ว จึงรับสั่งให้เก็บอิฐซึ่งก่อเป็นเตาหลอมและเตาสุม หุ้มหล่อพระทั้งปวงนั้นมาก่อเป็นชุกชี สูง 3 ศอก และให้ขุดดินที่อื่นมาผสมกับดินพิมพ์ที่ต่อยจากพระพุทธรูปถมในชุกชีนั้น แล้วทรงปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้น หันหน้าต่อทิศอุดรแล้วเชิญพระเหลือกับสาวกอีก 2 องค์เข้าไว้ในที่นั้น ให้เป็นหลักฐานแสดงที่ซึ่งหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์

คาถาบูชาพระพุทธชินราช

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ (3 จบ)

อิเมหิ นานา สักกาเรหิ อภิปูชิเตหิ ทีกายุโก โหมิ
อะโรโค สุขิโต สิทธิกัจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ ประสิทธิลาโภ ชะโย โหตุ
สัพพัททา พุทธชินะราชา อภิปะเลตุ มัง นะโมพุทธายะ

ภาพโดย : อากาศ

ที่ตั้ง : 92/3 ถนน พุทธบูชา ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก 65000

Google Map : https://goo.gl/maps/G8K3GYLAJdUnczw58

เวลาเข้าชม : 08.00 น. – 18.00 น.

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เลขเด็ดฝันเห็นเหรียญพระพุทธชินราช ทำนายฝันเหรียญพระพุทธชินราช แม่นๆ

เลขเด็ดฝันเห็นฝันเห็นพระชินราช2องค์ ทำนายฝันฝันเห็นพระชินราช2องค์ แม่นๆ