จากตำนานที่ถูกเล่าขานมากว่าเกือบ ๕๐๐ ปี จนกลายมาเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ และศักดิ์สิทธิ์ของชาวเพชรบูรณ์จวบจนทุกวันนี้ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ”
ทุกครั้งเมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เวียนมาบรรจบครบรอบของทุกๆ ปี ชาวเพชรบูรณ์ต่างพากันน้อมรำลึกถึงตำนานมหัศจรรย์แห่งการพบ “พระพุทธมหาธรรมราชา” เรื่องที่ว่าได้ถูกเล่าสืบทอด กันต่อๆ มาว่า หลวง“ตาด่อน” กับภรรยาพายเรือออกไปหาปลาในแม่น้ำป่าสักบริเวณคุ้งน้ำ “วังมะขามแฟบ” แต่กลับบังเอิญพบพระพุทธรูปดำผุดดำว่ายบนผิวน้ำ
จากนั้นได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ วัดไตรภูมิ ครั้นในปีถัดมาพระพุทธรูปองค์นี้กลับหายไปอย่างไร้ร่อง- รอย จนชาวบ้านต่างช่วยกันระดมค้นหาสุดท้ายไปพบองค์พระอยู่บริเวณที่พบในครั้งแรก จึงมีการอัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่ วัดดไตรภูมิอีกครั้ง จากนั้นในทุกๆ ปี เมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ซึ่งตรงกับวันสารทไทย เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ โดยต่างเชื่อว่าไม่เพียงดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเท่านั้น แต่ยังทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคระบาด กระทั่งกลายเป็นประเพณีแห่งความเชื่อสืบจากนั้นเป็นต้นมา
“พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเพชรบูรณ์ เป็นพระรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี (ขอมแบบบายน) หล่อด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๑๓ นิ้ว สูง ๑๘ นิ้ว ไม่มีฐาน พระเศียรมีพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระเศียรทรงเทริด ปลายยอดจุลมงกุฎเป็นทรงชฎา บนพระหัตถ์มีหม้อยาหรือหม้อน้ำมนต์ ทรงสร้อยพระศอ พาหุรัด และประคต มีลวดลายงดงามอีกทั้งแลดูน่าเกรงขามอย่างยิ่ง
สำหรับในปีนี้ โขนเรืออัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชานั้นจะใช้เป็นโขนหัวเรือพญานาคที่มีชื่อว่า “กาญจนาคา” มาประกอบ พิธีอุ้มพระดำน้ำศาสนาพุทธและคนไทยนั้นมีความผูกพันกับนาคมาอย่างยาวนาน โดยนาค ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ นานา เช่น นาคราช, นาคา นาคเพศหญิงเรียกว่า นาคี หรือนาคผู้เป็นหัวหน้าเรียกว่า พญานาค เชื่อว่า นาค นั้นอาศัยในบาดาล บางส่วนก็อาศัยในน้ำ เช่นลำธาร แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร และบางส่วนอาศัยบนบกเช่นในถ้ำ
นอกจากนั้นในความเชื่อทางพุทธศาสนามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาคมากมาย หนึ่งในนาคที่ปรากฏในพุทธประวัติก็คือ พญานาคมุจลินทร์ ระหว่างที่พระพุทธ เจ้าเสวยวิมุตติสุข เกิดฝนฟ้าคะนองรุนแรง พญามุจลินท์จึงได้ขดรอบพระพุทธองค์แล้วแผ่พังพานปกพระเศียรของพระพุทธเจ้าเพื่อไม่ให้เปียกฝน
เพราะเหตุนี้องค์พระพุทธมหาธรรมราชา จึงเปรียบเสมือนตัวแทนพระพระพุทธเจ้า และพญานาคซึ่งเป็นเจ้าแห่งน้ำเปรียบเสมือนตัว แทนของความเชื่อ ความศรัทธา ความอุดมสมบูรณ์เรื่องน้ำ ความเชื่อเรื่องพญานาคมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งการทำเกษตรจะต้องพึ่งพาอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก
ถ้าปีไหนฝนตกต้องตามฤดูกาลการเกษตรจะเจริญงอกงามให้ผลผลิตดี ทำให้มีความสุข แต่ถ้าปีไหนฝนแล้งไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตร เกิดความอดอยากทุกข์ยาก ชาวบ้านจึงต้องหาที่พึ่งด้วยความเชื่อที่ว่า พญานาค คือ ผู้ให้น้ำเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นที่มาของแบบภาพประชาสัมพันธ์งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำในปี ๒๕๖๕
จากอดีตจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ประเพณีอุ้มพระดำน้ำยังเป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคี ทั้งยังหล่อหลอมความเชื่อและจิตใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธาของชาวเพชรบูรณ์อย่างแท้จริง โดยวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ของทุกๆ ปี ชาวเพชรบูรณ์ไม่ว่าจะ อยู่ ณ ที่แห่งหนใดก็ตามจะกลับมาร่วมแรงร่วมใจ และช่วยกันร่วมสืบสานประเพณีศักดิ์สิทธิ์แห่งลุ่มน้ำป่าสักที่มีหนึ่งเดียวในโลก ให้คงไว้ตราบนานเท่านาน
นาวิน คงวราคม
โดยงานประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ” จังหวัดเพชรบูรณ์ ปีนี้จัดขึ้น ในวันที่ 23-28 กันยายน 2565 เชิญชวนพี่น้องชาวไทยและชาว Mthai ไปเที่ยวชมความสวยงามขององค์พระพุทธมหาธรรมราชา และเที่ยวชมประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมายาวนานถึง 400 ปี