บทสนทนา ถือเป็นหัวใจของทวิตเตอร์ จะเห็นได้ว่า เพียงทวีตเดียว สามารถสร้างอิมแพ็คไปในวงกว้าง ทวิตเตอร์จึงได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาลงลึกในกว่า 64,000 ทวีตบนทวิตเตอร์ประเทศไทย เพื่อค้นหาพลังของทวีตและชาวทวิตภพมีวิธีกำหนดวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้อย่างไรผ่านชุมชนและบทสนทนา
เผยผลสำรวจ คนไทยคุยอะไรกันบนทวิตเตอร์?!
นายมาร์ติน ยูเรน หัวหน้าแผนกงานวิจัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า “เป้าหมายของทวิตเตอร์ตั้งแต่แรกเริ่มคือการได้ทราบถึงมุมมองที่ถูกต้องแม่นยำในบทสนทนาของคนไทยบนทวิตเตอร์บางครั้งบางบทสนทนาก็สามารถส่งเสียงได้ดังกว่าบทสนทนาอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่เราค้นพบคือ บทสนทนาของคนไทยมีความหลากหลายและมีชีวิตชีวา ผลจากงานวิจัยของทวิตเตอร์แสดงให้เห็นว่า หัวข้อในการสนทนามีการทับซ้อนกันอย่างน่าสนใจจนทำให้เกิดเป็นธีมทางวัฒนธรรมหลัก 4 รูปแบบ ซึ่งการค้นพบของเราในครั้งนี้จะช่วยให้คนไทยมีความเข้าใจชุมชนที่หลากหลายบนทวิตเตอร์ได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับแบรนด์ไทยและต่างชาติได้ทราบถึงหัวข้อและธีมของการสนทนาอันเป็นเอกลักษณ์บนทวิตเตอร์ในประเทศไทย”
วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของการพูดคุยบนทวิตเตอร์ประเทศไทย 4 รูปแบบ ประกอบด้วยหัวข้อบทสนทนาที่มีความชัดเจน 11 หัวข้อ แสดงให้เห็นว่า การแสดงออกของชาวทวิตภพสะท้อนถึงวัฒนธรรมไทยในขณะเดียวกันสะท้อนความชอบและความสนใจต่างๆ ในบทสนทนาอย่างหลากหลายและกระจายในวงกว้างมากซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนบนทวิตเตอร์ในประเทศไทย
1.บันทึกส่วนตัว – การพูดคุยในชีวิตประจำวัน, ความรักและความสัมพันธ์ และการสะท้อนมุมมองความคิด
ธีมวัฒนธรรมการพูดคุยนี้นับได้ว่ามีพื้นที่บนทวิตเตอร์มากที่สุดโดยมีสัดส่วนถึง 45% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบนทวิตเตอร์ประเทศไทย และเป็นหัวข้อที่ผู้คนเข้ามาร่วมพูดคุยในชีวิตประจำวัน โดยมีการแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับกิจวัตรการเดินทาง และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตัวเอง นอกจากนี้ทวิตเตอร์ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการที่ผู้คนบอกเล่าเรื่องจริงจากใจและทวีตเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ ทั้งในเรื่องของข้อบกพร่องของตัวเอง ความปรารถนาต่างๆ และการมีช่วงเวลาที่ดีกับคนสำคัญของพวกเขา
ชาวทวิตภพมักจะแชร์ปัญหาที่พบเจอในแต่ละวัน ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองความคิดต่างๆ ซึ่งเรื่องราวที่เอามาแชร์อาจจะเป็นแค่เรื่องของการปวดเมื่อยร่างกายเล็กๆ น้อยๆ เช่น อาการปวดหัวหรืออาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จนถึง การชอบแสดงความคิดเห็นในเรื่องของสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนจนแทบทนไม่ไหวและอยากให้ฤดูฝนมาถึงไวๆ
2. “เชื่อมต่อกับคนคอเดียวกัน” ต้องมาที่ทวิตเตอร์ – เหตุการณ์ปัจจุบัน, แพสชั่น และตลาดนัดออนไลน์
ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิตของคนไทย จากงานวิจัยพบว่า การเชื่อมต่อกับคนคอเดียวกันมีสัดส่วน 35% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบนทวิตเตอร์ประเทศไทย คนไทยได้ใช้ทวิตเตอร์อย่างกระตือรือร้นเพื่อให้มีการเชื่อมต่อกับชุมชนของเขาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเพื่อเป็นการอัปเดต #WhatsHappening ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คนไทยมักจะทวีตเกี่ยวกับหลากหลายเหตุการปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เรื่องโควิด-19 สกุลเงินคริปโต ไปจนถึงการเมืองในประเทศและในแถบภูมิภาคนี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี กีฬา อาหาร หรือการช้อปปิ้ง ชาวทวิตภพมักจะแชร์แพสชั่นที่มีต่อหัวข้อเรื่องดังกล่าวบนทวิตเตอร์ หรือเรื่องของความงาม อาหาร ร้านอาหาร และเทรนด์แฟชั่นล่าสุด คนไทยมีความกระตือรือร้นที่จะรีวิวสินค้าที่พวกเขาซื้อมาหรือสถานที่ที่ได้ไปมา สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ ทวิตเตอร์คือสถานที่ในการขายสินค้าได้เป็นอย่างดี อาทิ อาหารพวกโฮมคุ้กกิ้ง ขนมหวาน เสื้อผ้า สินค้าจากบรรดาแฟนด้อมและงานฝีมือ คนไทยสามารถทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นตลาดนัดออนไลน์ ที่พวกเขาสามารถทำได้ทั้งนำเสนอสินค้าและแสดงความคิดสร้างสรรค์บนทวิตเตอร์
3. สิ่งสวยงามที่ดีต่อใจ – แกลอรี่ศิลปะ, คนดังและแฟนด้อม, และความหวังและความฝัน
บทสนทนารูปแบบนี้มีสัดส่วน 16% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบนทวิตเตอร์ประเทศไทย ชาวทวิตภพจะทวีตข้อความเกี่ยวกับความสนใจที่มีร่วมกัน ซึ่งสามารถสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ด้วยการทำ แกลอรี่ศิลปะ เหมือนเวลาที่ทำอัลบั้มรูปภาพหรือการทำหนังสือ scrapbook เพราะคนที่ใช้ทวิตเตอร์ชอบแชร์สถานที่สวยๆ หรือสิ่งของที่สวยงามในชีวิตประจำวัน เช่น ภาพคาเฟ่ บ้านสวยๆ วิวธรรมชาติ ชายหาดสวยๆ และอื่นๆ คนดังและแฟนด้อม เป็นอีกหนึ่งหัวข้อของบทสนทนายอดนิยม ซึ่งเป็นการสนทนาที่สนุกสนานและมีสีสันเป็นอย่างมาก การทวีตถึงศิลปิน K-Pop โดยเฉพาะศิลปินชาวไทยอย่างแบบแบม (@BamBam1A) และ #Lisa จากวงแบล็กพิงค์ (@BLACKPINK) จนถึงศิลปินในประเทศอย่างเป๊ก ผลิตโชค(@peckpalit), วง 4EVE (@4eveOfficial) และเรียกได้ว่าคนไทยเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเซเล็บดาราไทย
แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังคงอยู่และสร้างความยากลำบากให้กับหลายๆ คน ทวิตเตอร์ยังเห็นว่าคนไทยมีความหวังและความฝัน เห็นได้จากธีมหลักของบทสนทนาที่ผู้ใช้งานจะทวีตถึงความหลังในอดีตถึงทริปที่เคยไปเที่ยวและการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปเม้นต์ถามคนอื่นๆ ว่า “หลังหมดโควิดแล้ววางแผนจะไปเที่ยวที่ไหน”
4. การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง – การเฉลิมฉลอง และ พลังบันดาลใจ
การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้างคิดเป็นสัดส่วน 4% ของบทสนทนาทั้งหมด โดยใจความของบทสนทนาในธีมนี้มุ่งสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจในการแสดงด้านที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา ในอีกด้านทวิตเตอร์ก็เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ของการเฉลิมฉลอง ชาวทวิตภพมีความภูมิใจในการแบ่งปันความสุขและเฉลิมฉลองในทุกเหตุการณ์ อาทิ งานฉลองสำเร็จการศึกษา การได้เกรดดีๆ วันเกิด หรือ การฉลองครบรอบ ฯลฯ
คนไทยนั้นต่างมีน้ำใจโอบอ้อมอารีในการทำให้อีกฝ่ายมีความรู้สึกที่ดีขึ้น ในแบบของ พลังบันดาลใจ ทวิตเตอร์จึงเปรียบเสมือนเครือข่ายในการช่วยเหลือสนับสนุนกัน ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทวีตข้อความทั่วๆ ไปที่เป็นการส่งพลังบวกให้กับทุกคนในชุมชนโดยรวม ไม่ได้เป็นการระบุเจาะจงถึงบุคคลใดแต่เป็นการให้กำลังใจกับคนอื่นๆ ที่ต้องการทำลังใจอาจเลื่อนทวีตผ่านมาเห็น