จีน แขนกล

‘หุ่นยนต์กำจัดขยะอวกาศ’ เคลื่อนที่ได้ราว ‘หนวดปลาหมึก’

จีนพัฒนาแขนกล สำหรับเก็บ-กำจัดขยะอวกาศ โค้ง บิด งอ จับสิ่งของได้อย่างแม่นยำ

Home / TECH / ‘หุ่นยนต์กำจัดขยะอวกาศ’ เคลื่อนที่ได้ราว ‘หนวดปลาหมึก’

ประเด็นน่าสนใจ

  • จีนพัฒนาแขนกล สำหรับเก็บ-กำจัดขยะอวกาศ
  • สามารถโค้ง บิด งอ จับสิ่งของได้อย่างแม่นยำ
  • สามารถดัดแปลงให้ใช้ในภารกิจช่วยเหลือ-กู้ภัยได้ด้วย

การกำจัดขยะในอวกาศจะสามารถทำได้ง่ายดายยิ่งขึ้นด้วยระบบแขนกลอัตโนมัติแบบต่อเนื่องที่จีนพัฒนา

หุ่นยนต์ที่ได้แรงบันดาลใจจากแขนขาของมนุษย์ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นด้วยการเชื่อมข้อต่อที่ไม่ได้ปะติดปะต่อกันอย่างแน่นหนา ทว่าหุ่นยนต์แบบต่อเนื่องสามารถบิดลำตัวให้โค้งงอเพื่อเคลื่อนที่ผ่านส่วนโค้งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่คล้ายกับหนวดปลาหมึกหรืองู

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทียนจินของจีนได้พัฒนาระบบแขนกลอัตโนมัติแบบต่อเนื่องที่สามารถใช้ไล่ตามและรวบรวมเศษซากขยะจากดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศอื่นๆ ที่โคจรอยู่รอบโลก

ระบบแขนกลดังกล่าวมีลักษณะคล้ายหนวดปลาหมึกหรืองวงช้าง ประกอบด้วยแกนหลักส่วนกลางที่สร้างขึ้นจากโลหะผสมนิกเกิลและไททาเนียมความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถคืนกลับสู่รูปร่างเดิมหลังถูกทำให้โค้งงอหรือผิดรูปจากแรงกระทบภายนอก ทั้งยังมีกล้องบันทึกภาพและกรงเล็บติดอยู่ด้านบนอีกด้วย

คลิปวิดีโอความยาว 12 วินาทีที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยฯ แสดงภาพการจับสิ่งของอย่างแม่นยำของหุ่นยนต์ ซึ่งสามารถเลื้อยผ่านทางคดเคี้ยวที่ซับซ้อนโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์และจับวัตถุที่มีขนาดใหญ่ราวลูกปิงปอง

คังหรงเจี๋ย รองศาสตราจารย์ประจำศูนย์กลไกและหุ่นยนต์ขั้นสูง (Center for Advanced Mechanisms and Robotics) ของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าแขนกลแบบต่อเนื่องมีความยืดหยุ่นและความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกได้ดีกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป ซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นจำเป็นต้องใช้เซ็นเซอร์รับสัมผัสในการทำงาน

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยของคังเคยประสบความสำเร็จในการวิจัยและสร้างหุ่นยนต์มาก่อน โดยสิ่งประดิษฐ์ชิ้นล่าสุดนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิจัยหุ่นยนต์ระหว่างประเทศ (The International Journal of Robotics Research)

ไต้เจี้ยนเซิง ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยฯ ชี้ว่าระบบแขนกลยังสามารถปฏิบัติงานที่อันตราย อาทิ การค้นหาและช่วยเหลือในพื้นที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ในอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่จำกัด


ที่มา – ซินหัว