ต้นเดือนแล้ว มนุษย์เงินเดือนทุกคนต่างยิ้มแก้มปริ เพราะเงินในบัญชียังคงเต็มบัญชีให้ได้ยิ้มไปอีกสักพัก และเมื่อเราได้เงินมา แน่นอนทุกคนต้องมีแผนการจัดการและบริหารเงินเดือนของตนเองแตกต่างกันออกไป บางคนก็ต้องนำไปจ่ายค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ บางคนก็โอนให้พ่อแม่ หรือแม้แต่ไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ฯลฯ แต่ส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการออมเก็บไว้ในยามจำเป็น
สคฝ. เปิด 3 เช็คลิสต์ มั่นใจเงินฝากได้รับการคุ้มครองแน่นอน!
ในยามเศรษฐกิจโลกเป็นเช่นนี้ หลายคนอาจมีความกังวลว่า เงินที่หวงแหนฝากมาเป็นแรมเดือนแรมปีจะปลอดภัยแค่ไหน หากเกิดอะไรขึ้นมากับธนาคารที่เราฝากเงินไว้ขึ้นมาจริง ๆ แล้วผู้ฝากเงินไม่มีความจำเป็นต้องวิตกกังวลไป เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมี สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินนั่นเอง
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA กล่าวว่า สคฝ. เป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ 2551 เพื่อให้ความคุ้มครองเงินฝากในกรณีที่สถาบันการเงินถูกปิดกิจการ สคฝ. จะดำเนินการจ่ายเงินคุ้มครองให้อย่างรวดเร็วให้แก่ผู้ฝากภายใน 30 วัน ด้วยเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ที่สะสมมาจากเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครองภายในวงเงินตามประกาศซึ่งปัจจุบันวงเงินอยู่ที่ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ในกรณีเงินฝากเกินวงเงินที่กำหนด สคฝ. จะชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิด และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชี มาจ่ายเงินคุ้มครองให้ผู้ฝากที่มีเงินฝากส่วนเกินวงเงินคุ้มครอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝาก ภายใต้แนวคิด “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คุ้มครองทุกจังหวะชีวิต”
หากคุณอยากทราบว่าเงินที่คุณฝากอยู่นั้นได้รับการคุ้มครองโดย สคฝ. หรือไม่เพียงตรวจสอบบัญชีของท่านกับ “เช็คลิสต์” 3 ข้อนี้ เท่านั้นจะทำให้คุณคลายหายกังวลได้เลย
- ฝากกับสถาบันการเงิน 35 แห่ง สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองเงินฝากของ สคฝ. ประกอบไปด้วยธนาคารพาณิชย์และธนาคารต่างประเทศ 30 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิต ฟองซิเอร์ 3 แห่ง รวมทั้งหมด 35 แห่ง หากฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งตามรายชื่อที่กำหนดก็จะได้รับความคุ้มครอง ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อสถาบันการเงินได้ที่ http://www.dpa.or.th
- ประเภทบัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ในปัจจุบัน สคฝ. ให้ความคุ้มครองเงินฝากด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่ เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เงินฝากกระแสรายวัน บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน ทั้งประเภทบัญชีเงินฝากในนามบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล คนไทย หรือชาวต่างชาติก็ได้รับความคุ้มครองเหมือนกัน
- เงินที่ฝากเป็นสกุลเงินบาท เพราะสกุลเงินที่ สคฝ. ให้การคุ้มครอง คือ “สกุลเงินบาท” เท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองสกุลเงินต่างชาติประเภทอื่นที่อยู่ในบัญชี
ทั้งนี้ ประชาชนและผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองเงินฝาก ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์บริการให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก โทร. 1158 หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/dpathailand และเว็บไซต์ www.dpa.or.th