TMA เผยผลการจัดอันดับฯ โดย IMD ประเทศไทยดีขึ้น 5 อันดับ เป็นอันดับที่ 25
21 มิถุนายน 2567 กรุงเทพฯ –สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ (IMD – WCC) ประจำปี 2567 โดยในปีนี้ ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 67 เขตเศรษฐกิจที่มีการจัดอันดับ โดยในปีนี้ IMD – WCC ได้มีการเพิ่มเขตเศรษฐกิจที่จัดอันดับอีก 3 เขตเศรษฐกิจ คือ กาน่า ไนจีเรีย และเปอร์โตริโก้ รวมเป็น 67 เขตเศรษฐกิจ
จากปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการจัดอันดับรวม 4 ด้าน มี 2 ปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีขึ้นในปีนี้คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ดีขึ้นถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 5 และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่ดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 23 เป็นอันดับที่ 20 ในปีนี้ ในขณะที่ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐาน มีอันดับคงเดิมในอันดับที่ 24 และ 43 ตามลำดับ ทั้งนี้ อันดับที่ดีขึ้นในด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจมาจากประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ดีขึ้นถึง 23 อันดับมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีนี้ อันเนื่องมาจากประเด็นด้านการท่องเที่ยวที่สัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP (Tourism receipts) และการส่งออกด้านบริการ (Export of commercial services) รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดมีอันดับที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่ด้านระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices) ดีขึ้น 10 อันดับจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีอันดับดีขึ้นเล็กน้อย จากอันดับที่ 23 ในปี 2566 เป็นอันดับที่ 20 ในปี 2567 จากตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการ (Management Practices) ที่ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความกลัวความล้มเหลวของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial fear of failure) และกิจกรรมของผู้ประกอบการขั้นต้น (Total early-stage Entrepreneurial Activity) มีค่าและอันดับที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีถึงผลของความพยายามของทุกภาคส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงในด้านผลิตภาพในภาพรวมที่มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 38 เป็น 42 โดยเป็นผลจากอันดับที่ลดลงของผลิตภาพในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยที่มีอันดับไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)ที่อยู่ในอันดับที่ 24 และ 43 เช่นเดียวกับปี 2566 ในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ถึงแม้ว่าอันดับในภาพรวมจะอยู่ในระดับดีพอสมควร แต่ยังคงมีประเด็นที่ยังอยู่ในอันดับต่ำและควรให้ความสนใจได้แก่ กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) กฎหมายด้านธุรกิจ (Business Legislation) และประเด็นด้านสังคม (Societal Framework) ในขณะที่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไทยยังอยู่ในอันดับต่ำมาโดยตลอด ถึงแม้อันดับในด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ (Basic Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (Technology Infrastructure) อยู่ในระดับปานกลาง แต่โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้แก่ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ ยังคงอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ คือ อันดับที่ 55 54 และ 40 ตามลำดับ
ในระดับอาเซียน ผลการจัดอันดับของ IMD ในปีนี้มีประเด็นที่พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปีแรกที่ลำดับความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจในอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับรวม 5 เขตเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ โดยสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถสูงสุด 1 ใน 5 ของการจัดอันดับของ IMD และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนมาโดยตลอด มีอันดับดีขึ้นจากอันดับ 4 ในปี 2566 มาอยู่อันดับที่ 1 ของโลกในปีนี้ และนับเป็นครั้งแรกที่ไทยและอินโดนีเซียได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของอาเซียนโดยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันในอันดับที่ 25 และ 27 ตามลำดับ ในขณะที่มาเลเชียมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ยังคงอยู่ในอันดับที่ 52 เช่นเดียวกับปี 2566 ซึ่งอินโดนีเซียนับเป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะที่ผ่านมา และดีขี้นถึง 7 อันดับในปี 2567 จากปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ละสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 8 6 และ 5 อันดับจากปี 2566 โดยประเด็นที่เป็นปัจจัยดึงดูด คือ พลวัตของเศรษฐกิจ (Dynamism of the economy) ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน (Cost competitiveness) และความมั่นคงทางการเมือง (Policy stability & predictability)
เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2567 ได้แก่ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และฮ่องกง โดยเขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุดของปี 2567 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็กเช่นเดียวกับปีก่อนหน้า ซึ่ง IMD-WCC แสดงความคิดเห็นว่าผลดังกล่าวสะท้อนว่า ความสามารถในการแข่งขันไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของเขตเศรษฐกิจ และยังได้
ตั้งข้อสังเกตว่าตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) มีการพัฒนาศักยภาพด้านการนวัตกรรม ดิจิทัล และความหลากหลายเศรษฐกิจได้เท่าทันกับเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ดังตัวอย่างของ จีน อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ที่กลายเป็น ผู้เล่นที่สำคัญในด้านการลงทุน นวัตกรรม และภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน และสร้างโอกาสใหม่ๆ (New opportunities) และตลาด สำหรับธุรกิจและผู้บริโภค รวมถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนใหม่ ๆ ที่ทำให้ทั้งรัฐบาลและธุรกิจที่สนใจตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้มากขึ้น
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยนับว่าน่ายินดีที่อันดับในปี 2567 ดีขึ้นกว่าปีก่อนถึง 5 อันดับโดยกลับมาอยู่ที่อันดับ 25 ที่เทียบเท่ากับอันดับในปี 2562 และเป็นอันดับดีที่สุดที่ไทยเคยขึ้นถึง ซึ่งปัจจัยหลักคือภาพการฟื้นตัวของผลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มาจากการท่องเที่ยวและการขยายตัวของตลาดส่งออกหลังการยุติของโรคระบาด Covid-19 ขณะเดียวกันผมคิดว่าเป็นข้อท้าทายสำหรับเราว่าจะทำอย่างไรในการสร้างแรงขับเคลื่อนให้เราก้าวไปสู่อีกระดับได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนของไทยคือการขาดเม็ดเงินและทรัพยากรที่จำเป็นในการลงทุนเพื่อเสริมสร้างและแก้ปัญหาที่เรื้อรังในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่เกี่ยวข้องกับการขาดผลิตภาพของภาคธุรกิจและภาคการผลิตที่สำคัญ การขาดแคลนคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรมนุษย์ การขาดคุณภาพของการศึกษาและสุขภาพ และปัจจัยเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไทยยังอยู่ในอันดับต่ำ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนขีดความสามารถในด้านอื่น ๆ ของประเทศ ดังนั้นเพื่อทำให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมที่ดีขึ้นและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันคิดและขับเคลื่อน ภาครัฐในฐานะผู้กำหนดและดำเนินนโยบาย จะต้องนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนในการวางแผนและจัดทรัพยากรขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายและแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่ภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาคสังคม ต้องมุ่งเน้นการจัดสรรทรัพยากรไปในเป้าหมายเดียวกัน และที่สำคัญต้องพัฒนาศักยภาพของคนและองค์กรในทุกระดับให้สามารถจับสัญญาณแห่งอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความคล่องตัวในการปรับปรุงพัฒนา และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัลและ AI มาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วน”
ทั้งนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคลากรในด้านการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความสามารถในการติดตามและคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและตั้งเป้าหมายเชิงรุกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของ TMA โดยในวันที่ 16-19 กันยายน 2567 นี้ จะมีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลอง TMA ในวาระครบรอบ 60 ปีที่ได้ดำเนินการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ภายใต้ชื่องาน 60 YEARS OF EXCELLENCE “Creating Great Leaders, Designing the Futures” ขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยจะมีวิทยากรผู้บริหารชั้นนำจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ให้เกียรติมาร่วมให้ความรู้ แบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ Building a Competitive Region, Way forward to Sustainability และ Technology as an Imperative
สรุปงานแถลงข่าว Thailand Competitiveness 2024: What’s Next
- มุมมองภาครัฐ โดย คุณวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “เป้าหมายภายใน 3-4 ปีข้างหน้า อยากจะให้อันดับของไทยเราขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นเลขนำหน้าหลักสิบด้วยเลข 1 โดยมีเป้าหมายว่าเศรษฐกิจไทย จะต้องเติบโตอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในส่วนของประสิทธิภาพภาครัฐ การคลัง นโยบายภาษี มีการจัดเก็บได้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยง และเรื่องของกฎหมายธุรกิจ โดย Trends ต้องการให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศ แต่ถ้ากฎระเบียบยังเป็นอุปสรรค ก็จำเป็นต้องปรับปรุง โดยมองว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมกันปรับปรุงทั้งองคาพยพ มิใช่แค่เพียงหน่วยงานกลาง
ในส่วนของประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ อันดับก็ดีขึ้น จากเรื่องของการบริหารจัดการ ที่ Startups และ SMEs ดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้น เรื่อง Productivity จะทำอย่างไร ทั้งของแรงงาน (Labor) และภาพรวม (Total Productivity by Factor) แต่ด้านการเกษตร ยังมีผลิตภาพต่ำ ต้องเน้นเรื่องของการวิจัยพัฒนา (R&D) ให้มีผลิตภาพสูงขึ้น และเมื่อมามองภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมรถยนต์ร่วงแรง ทำให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทย จึงต้องมาพิจารณาว่า อุตสาหกรรมใด จะสามารถมาเป็นดาวเด่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป จะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรไหม หรืออุตสาหกรรม High-technology รวมถึงต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วย เช่น เวียดนาม ปี 2567 เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 5-6 ในขณะที่ เศรษฐกิจไทยแทบไม่เติบโตเลย ในปี 2567 สศช. คาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 2.5 นอกจากนั้น ภาคการบริการ ถือเป็นภาคหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากการท่องเที่ยว แต่เราจะรักษาการเติบโตของภาคการบริการ การท่องเที่ยวอย่างไร ซึ่งการท่องเที่ยวมีความเชื่อมโยงในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย มองว่าทุกตัวชี้วัด มีความเชื่อมโยงกัน
ข้อสังเกตด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษาและสาธารณสุขของไทย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่อยู่ในอันดับท้าย ๆ ของโลก ยังถือว่าสอบตก คำถามสำคัญคือเราจะยกระดับพัฒนาปัจจัยเหล่านี้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องในระยะยาว มองว่าที่ไทย เราอันดับดีขึ้น 5 อันดับในปีนี้ ในขณะที่ มาเลเซียอันดับตกลงไปค่อนข้างมาก เป็นอันดับ 4 ของอาเซียนนั้น จำเป็นที่จะต้องไปวิเคราะห์ในเชิงลึกว่าสาเหตุใด มาเลเซียถึงอันดับลดลงมาก โดยในเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มีปัจจัยภายนอกประเทศ (External factors) ที่มีผลกระทบต่อไทยด้วย
การศึกษาของไทย ส่วนใหญ่เน้นเรื่อง Social sciences แต่จะทำอย่างไรที่จะผลิตบุคลากรที่มีทักษะที่จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคต ที่เป็น New S-curves ซึ่งในอดีตมี 10 สาขา แต่หลังจาก Post Covid-19 โครงสร้างอุตสาหกรรมเปลี่ยน ก็ต้องมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่า New S-curves ของไทยจะเหลือกี่สาขา รวมถึงเรื่องความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต และการแพทย์ ที่ต่างจังหวัดอาจจะคุณภาพไม่เทียบเท่าเขตเมือง ชายขอบอาจจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ยากกว่า มองว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมด เรื่องขอเสถียรภาพทางการเมือง คอร์รัปชัน เรื่องกฎหมายธุรกิจต้องปรับให้ทันสมัย ในการที่จะต้องอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และดึงดูดต่างประเทศให้เข้ามา
ทั้งนี้ การขับเคลื่อน Competitiveness ของประเทศ จำเป็นต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงแผนงาน Masterplan การทำตามเป้าหมายที่มีความชัดเจนในนั้น ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งก็ต้องการการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น เรื่องของการผลิตคน ก็จะเกี่ยวข้องกับทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง อว. กระทรวงแรงงาน การวิจัยพัฒนาต่าง ๆ ด้วย หรือเรื่องของสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ก็ต้องการการเข้ามามีส่วนร่วมของกระทรวงสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาคุณภาพบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ให้ทันกับโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น”
- มุมมองภาคเอกชน โดย คุณนิธิ ภัทรโชค ประธาน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) “ผลการจัดอันดับของ IMD ในปี 2567 นี้ ไทยเราอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้ว 5 อันดับ มองผิวเผินอาจจะมองว่าเป็นข่าวดี (Good news) แต่คำถามสำคัญที่เป็น Question mark คือ ไทยเราดีขึ้นจริงหรือเปล่า จากมุมมองของผู้บริหารภาคเอกชนหลายท่าน มองว่าผลอาจจะมีความขัดแย้งกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีเท่าไร โดยผลนี้ เป็นเพียงหนึ่งในกระจกที่สะท้อนภาพประเทศไทย ในมุมมองหลักเกณฑ์ของ IMD ว่าไทยยังควรจะต้องปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้น เพื่อมีความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง แต่ในความเป็นจริง ก็ยังมีการจัดอันดับของสถาบันอื่น ๆ เช่น WEF, Portulans และ Ease of Doing Business ด้วย โดยเราควรใช้ประโยชน์จากการจัดอันดับเหล่านี้ให้ดีที่สุด ทั้งมุมที่ไทยเข้มแข็งและมุมที่ต้องปรับปรุง ซึ่งจากผลการจัดอันดับในปี 2567 นี้ ปัจจัยที่ปรับตัวดีขึ้นคือ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และ Business Environment จากการที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลัง โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนไทย มีความยืดหยุ่น (Resilience) ในการปรับตัว อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่อันดับดีขึ้นจากการท่องเที่ยว ที่ช่วงโควิด-19 ติดลบ ในขณะที่ตัวเลขอื่น ๆ ไม่ดีขึ้นเลย เช่น การส่งออกสินค้า มองว่าต้องใช้จุดแข็ง (Strengths) ของไทย จากภาคการเกษตรและอาหาร ในแง่ของพื้นที่และบุคลากร ซึ่งอาจจะมาช่วยขับเคลื่อน New S-curves เพราะบางตลาดในไทยอิ่มตัว (Matured) แล้ว ต้องพิจารณาประเทศว่าอยู่ในช่วงการพัฒนาไหน เช่น ปัจจุบันไทยเป็น Ageing society แล้ว โดยอาจจะเป็นการเกษตรแบบใหม่ ที่ได้ผลผลิตสูง หรืออาหารที่มี High-value เป็นอาหารที่มีคุณภาพและได้ราคา และเรื่องการแพทย์ ที่ต่างชาติมาใช้บริการในเมืองไทย แต่เป็นเพียงแค่มุมเดียว เพราะ Health Infrastructure อันดับเราไม่สูง มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพ ซึ่งคุณภาพดีเฉพาะบางโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น หรือเรื่องของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง (Entertainment) ที่ไทยเรามีศักยภาพแข่งขันได้ เช่น ภาพยนตร์หลานม่า ที่ประสบความสำเร็จมาก
เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นประเด็นสำคัญ ที่อันดับยังรั้งท้ายค่อนข้างมาก และ Science and Technology เราต้องหา Competitive advantage ของเราให้เจอก่อน เช่น การที่เราบอกว่าเราจะไปอวกาศ แต่ยังไม่มีความพร้อมเลย หรือด้านอาหารที่ตอนนี้ มีโปรตีนแบบ Plant-based เกิดขึ้นมาทดแทนโปรตีนเนื้อสัตว์ ซึ่งการที่จะพัฒนาได้สำเร็จนั้น หัวใจสำคัญคือ “มีเงิน มีเทคโนโลยี และมีคนที่รู้เทคโนโลยี” นั้น ๆ
ในส่วนของประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government efficiency) รัฐควรจะต้องปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย ระเบียบต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัว และดึงดูดการค้าการลงทุน ให้เข้ามาในประเทศไทย มีนโยบายที่ส่งเสริมสิทธิพิเศษให้ธุรกิจใหม่ ๆ เหล่านี้ สามารถแข่งขันได้ รวมถึงปรับกฎระเบียบและข้อจำกัดของบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talents) จากต่างประเทศ ที่เข้ามาทำงานและอาศัยในไทย
สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ซึ่งรวมถึงสื่อมวลชน และ NGOs จะต้องร่วมกันคิด และเห็นภาพเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนประเทศ มุ่งไปในทิศทางเดียวกันในทางที่ถูกต้อง จะทำให้ประเทศเจริญเติบโตได้อย่างเร็วที่สุด โดย TMA มีหน้าที่รวบรวมข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ให้ทุกคนเห็นภาพและแนวทางเดียวกันในการขับเคลื่อนเรื่อง Competitiveness รวมถึงพัฒนา Leaders และ Managers ซึ่งอันดับปัจจุบันของ Management practices และ Attitude & values นั้น มีอันดับที่ดีและสามารถทำให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ได้ ให้ผู้บริหาร มี ESGs Governance ซึ่งจะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ในท้ายที่สุด