เปิดคูหา โชว์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT ดึงดูดนักลงทุน-นักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างรายได้ นำเศรษฐกิจสู่ประเทศไทย
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดทำแผนโครงการส่งเสริมและเผยแพร่อำนาจละมุน (Soft Power) ของไทยในกรอบทวิภาคีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยในการส่งเสริมสถานะของไทยในเวทีโลก การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและยกระดับการส่งเสริมเอกลักษณ์ของไทยให้กลายเป็นความนิยมไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าและบริการทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา วธ.ได้สนับสนุนการจัดงานเทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว ครั้งที่ 23 นำการแสดงดนตรีไทยร่วมสมัยจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร การแสดงหุ่นละครเล็กนาฏยศาลา (โจหลุยส์) ไปโชว์ภายในงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ Soft Power ของไทยได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศเข้าร่วมงานจำนวนมาก
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการต่อยอด สนับสนุน และผลักดัน Soft Power ของไทยสู่ต่างชาติมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง วธ. จึงร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว สนับสนุนกิจกรรมแบบจัดเต็ม นำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนและอัตลักษณ์ความเป็นไทย เผยแพร่ Soft Power ผ่านรูปแบบแนวคิด “มองมุมกลับ ปรับมุมใหม่ Soft Power ไทย สร้างรายได้ เสริมรายรับ นำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอด” ในงานเทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว Thai Festival Tokyo 2024 ครั้งที่ 24 ณ สวนสาธารณะโยโยงิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม 2567 ซึ่งการมองมุมกลับคือ การมองเข้ามาที่ประเทศไทย แก่นแท้ของทุนทางวัฒนธรรมที่ต่อในเชิงเศรษฐกิจได้ และเข้าใจว่าต่างประเทศเข้าใจเราอย่างไร ความนิยมไทยของชาวต่างชาติ เพื่อที่ วธ. จะได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดรับกับสถานการณ์โลกในต่างประเทศ ส่วนการปรับมุมใหม่ คือ การใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่า สร้างการรับรู้จากตลาดในต่างประเทศ เพื่อใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย 1) การแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรมไทย จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อาทิ โนรา ระบำกินรีร่อน รับขวัญข้าว เซิ้งผีตาโขน เป็นต้น
โดยเฉพาะการแสดงโนรา เป็นการแสดงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity – บัญชี RL) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก โดย “โนรา” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโกลำดับที่สามของไทย และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคและในประเทศไทยด้วย 2) การจับคู่ธุรกิจและออกร้านคูหาเพื่อสาธิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ได้แก่ กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ (Online Matching) พร้อมการจัดทำ E-Catalogue และ กิจกรรมการออกร้านคูหาเพื่อสาธิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) เป็นครั้งแรกในต่างประเทศ อาทิ พวงกุญแจผ้าลายโขรามเกียรติ์ สุดน่ารัก กระเป๋า เครื่องประดับ รวมถึงเครื่องหอมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น นับเป็นประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมในการเข้าถึงตลาดและกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้าน Soft Power ของภูมิภาค สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับงานดังกล่าว ทราบมาว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่ร่วมงานนี้ ร้อยละ 85 เป็นชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มช่วงอายุ 15 – 29 ปี และช่วงอายุ 30 – 45 ปี ซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่และเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง และยังให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance มีกำลังซื้อสูง วธ.จึงเห็นว่าการนำ Soft Power ไปร่วมงานในครั้งนี้จะสามารถขยายผลต่อยอดในด้านการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว การเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยและเรียนรู้วัฒนธรรมในประเทศไทยได้มากขึ้น ขณะเดียวกันชาวไทยในประเทศญี่ปุ่น เช่น นักเรียนหรือนักศึกษาไทยในประเทศญี่ปุ่น สมาคมภริยาชาวไทยที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็นับเป็นกลุ่มบุคคลที่พร้อมขยายผลสร้างทัศนคติเชิงบวกของชาวต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ทาง วธ. ยังคาดหวังว่าภาคธุรกิจไทยในประเทศญี่ปุ่นและภาคธุรกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมหน่วยงานและเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น จะเข้าร่วมงานดังกล่าวเป็นจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่ช่วยสร้างรายได้ นำเศรษฐกิจที่เกิดจากวัฒนธรรมเข้าสู่ประเทศไทยได้อีกด้วย