ประเด็นที่น่าสนใจ
- นายกฯ จัดการเตียงอย่างเร่งด่วน กทม. หารือมาตรการแยกกักตัวในชุมชน ระหว่างรอจัดสรรเตียง
- ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แนวทางการเพิ่มเตียงทุกระดับสี โรงพยาบาลบุษราคัมสามารถดำเนินการได้ทันที
- กรณีปูพรมฉีดวัคซีนที่ผ่านมา รอดูผลว่ามีแนวโน้มทำให้อัตราการป่วยหรือเสียชีวิตลดลง
- เนอสซิ่งโฮมมีเป้าหมายอยู่ 4,615 คน ได้เเก่ ผู้สูงอายุ 2,846 คน ผู้ดูแลผู้สูงอายุ 1,769 คน เเละในส่วนที่อยู่ที่บ้าน 1,776 คน
- สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานวัคซีน ซิโนฟาร์มอีก 6,400 โดส ให้กับ กทม.
- สายพันธุ์เดลต้าเข้าไทย เร่งรัดฉีดวัคซีน ให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ
…
ศบค. เเจงนายกฯสั่งเพิ่มศักยภาพเตียง หลังมีคนป่วยรอเตียงจนอาการทรุด
วันนี้ (2 ก.ค. 64) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.แถลงในที่ประชุม ว่า ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วงเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อใน กทม. ที่มีสัดส่วนมากกว่าผู้หายป่วยกลับบ้าน ขณะที่นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลารอเตียง จึงสั่งการให้ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข และกทม.ไปหารือเรื่องการจัดการเตียงอย่างเร่งด่วน
กทม. เตรียมหารือมาตรการแยกกักตัวในชุมชน
เพื่อศักยภาพการจัดการเตียง จึงเร่งรัดออกมาตรการแยกกักตัวในชุมชนหลังทราบผลและระหว่างรอจัดสรรเตียง โดยบ่ายวันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการดังกล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พูดถึงแนวทางการเพิ่มเตียงทุกระดับสี ซึ่งโรงพยาบาลบุษราคัมสามารถดำเนินการได้ทันที และขณะนี้ได้มีการปฐมนิเทศแพทย์ที่ผ่านการอบรมผู้เชี่ยวชาญ 144 คน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรแพทย์ ระบบทางเดินหายใจบำบัดวิกฤต ภายใน 1-2 วันนี้จะกระจายไปประจำโรงพยาบาลต่าง ๆ ใน กทม.
กรณีปูพรมฉีดวัคซีนที่ผ่านมา รออีก 1-2 เดือน ถึงจะเห็นผล
ทั้งนี้ จากที่เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนมากในปัจจุบันมาจากการติดเชื้อเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ส่วนกรณีที่เราปูพรมฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิ.ย. อาจจะต้องรอผลอีก 1-2 เดือน จึงจะเห็นว่าหลังฉีดวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหลังฉีด 2 สัปดาห์มีแนวโน้มทำให้ภาพรวมของประเทศ อัตราการป่วยหนัก หรืออัตราการเสียชีวิตลดลง
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุมเรื่องการให้บริการวัคซีนทางกรุงเทพมหานครได้รายงานด้วยว่าอีกหนึ่งบริการที่พยายามเร่งระดมบุคลากรในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคหลักหรืออาจจะมีความพิการ โดยทางกรุงเทพมหานครได้มีบริการให้การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมายังศูนย์ฉีดวัคซีนเป็นผู้ติดเตียง เเละผู้มีภาวะพึ่งพิงหรือผู้พิการ
พบว่าเนอสซิ่งโฮมมีเป้าหมายอยู่ 4,615 คน ได้เเก่
โดยกรุงเทพมหานครได้สำรวจในเนอสซิ่งโฮมหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ 140 แห่ง รวมทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร
- ผู้สูงอายุ 2,846 คน
- ผู้ดูแลผู้สูงอายุ 1,769 คน
- ในส่วนที่อยู่ที่บ้าน 1,776 คน
- ผู้สูงอายุ 1,470 คน
- ผู้ดูแล อีก 306 คน
ได้รับวัคซีนพระราชทาน อีก 6,400 โดส
ซึ่งจะมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเร็ววันนี้ เพราะอย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่ากลุ่มผู้สูงอายุถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูง ซึ่งทางสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้พระราชทานวัคซีน ซิโนฟาร์มอีก 6,400 โดส ให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อที่จะระดมฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเตียงติดบ้านเพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงนี้ด้วย
สายพันธุ์เดลต้าเเพร่ระบาดมากขึ้น
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ตอนนี้การแพร่ระบาดทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าเริ่มเห็นสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาแพร่ระบาดในบ้านเรา ซึ่งสายพันธุ์นี้มีรายงานการแพร่ระบาดที่ประเทศอินเดียโดยหลักการที่มีรายงานคือจะเป็นสายพันธุ์ที่ ติดกันได้ง่าย มีการแพร่ระบาดรวดเร็ว แต่การเกิดความรุนแรงนั้นจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเสี่ยงที่ถือได้ว่าเป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคหลัก
ดังนั้น จึงมีการนำสู่เกิดข้อสรุปของที่ประชุมว่าเมื่อเราได้รับวัคซีนมากขึ้น มีการกระจายที่เพียงพอ ก็ขอให้เน้นย้ำไปที่กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ก็หวังว่าเราจะเห็นภาพเหมือนประเทศอังกฤษที่ถึงแม้ฉีดวัคซีน มีรายงานผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงอยู่ แต่อัตราการเจ็บป่วยในระดับรุนแรง หรืออัตราการเสียชีวิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน