“คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นสถาบันแรกที่เปิดสอนกายภาพบำบัด ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี คณะฯมุ่งมั่นผลักดันในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์งานวิจัยคุณภาพสูงและผลิตนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก รวมทั้งการให้บริการทางสุขภาพแก่ประชาชนที่ได้รับมาตรฐานสากล นอกจากนั้นยังต่อยอดโครงการเพื่อสังคมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง โดยทุกพันธกิจได้มุ่งเน้นการต่อยอดพันธกิจทุกด้านให้มั่นคงพร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล พร้อมส่งต่อเมล็ดพันธุ์ที่บ่มเพาะอย่างแข็งแกร่งในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบที่เอื้อต่อการเติบโตของบุคลากร สนับสนุนความก้าวหน้าของนักศึกษาและหลักสูตรที่ได้รับมาตรฐานระดับนานาชาติ และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมอย่างแท้จริง

ด้านหลักสูตรการศึกษา ปัจจุบันคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล มีด้วยกัน 7 หลักสูตร มุ่งพัฒนาคุณภาพหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการในวิชาชีพ เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนในสังคมไทยและสังคมโลก ด้วยการรับรองหลักสูตรมาตรฐานสากล เช่น World Physiotherapy (WP), World Federation of Occupational Therapy (WFOT), ASEAN University Network Quality Assurance (AUN-QA) โดยทุกหลักสูตร มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนตามหลัก Outcome-based education หรือ OBE ร่วมกับการใช้นวัตกรรมด้านการศึกษา (Innovative Education)

พร้อมกันนี้ยังผลักดันให้เกิดผลงานการวิจัยที่มีคุณภาพในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง ตามวิสัยทัศน์ที่กล่าวว่า “คณะกายภาพบำบัด เป็นสถาบันชั้นนำเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของสังคมโลก” สร้างผลงานที่เกิด real world impact จากการตีพิมพ์ที่มีคุณภาพในระดับสากล โดยมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นเป็น top 10% (41.5%), Q1 (65.9%), international co-author (64.3%) และนวัตกรรมอุปกรณ์ดาม (splint) เทอร์โมพลาสติก ซึ่งมุ่งมั่นให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในระดับโลกต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดตั้ง “RICHms (Research and Innovation Center of Human Movement Sciences)” ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ที่มีความคล่องตัวในการดำเนินงานวิจัยตามทิศทางของคณะฯ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะการณ์สุขภาพของประเทศ พร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ผ่านงานวิจัยและสร้างผลงานนวัตกรรมที่ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ สถาบัน องค์กร ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดในด้านการศึกษา บริการสุขภาพ รวมถึงการวิจัย ให้สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไปในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้น คณะกายภาพบำบัด ยังมีความร่วมมือกับองค์กรเอกชน และรัฐบาล เพื่อการบริการวิชาการและบริการสุขภาพที่เป็นเลิศ อาทิ กองสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของทีมสหวิชาชีพทั้ง 13 เขตสุขภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิและตอบสนองนโยบายของประเทศ รวมถึง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ องค์กรในประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาการบริการกายภาพบำบัดกิจกรรมบำบัดทางไกล HealthcaRe Tele-delivery Service (HeaRTS) และขยายการให้บริการในรูปแบบเยี่ยมบ้าน (HeaRTS @ Home) ในสำนักงาน (HeaRTS @ Office) ในโรงเรียน (HeaRTS @ School) สำหรับผู้รับบริการที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องหรือไม่สะดวกเดินทางเข้ารับการรักษาที่ศูนย์กายภาพบำบัด นอกจากนี้ยังรักษามาตรฐานในการให้บริการกายภาพบำบัด ในระดับ “ดีเยี่ยม” จากสภากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย และเป็นต้นแบบสำหรับฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกและดูงานของนักศึกษากายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด และบุคลากรทางการแพทย์ ในแถบเอเชีย

บัดนี้ ต้นกล้า “กายภาพบำบัด” เจริญงอกงามและแข็งแกร่งมาร่วม 6 ทศวรรษ จากสายธารแห่งเวลานำมาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย ให้พัฒนางานการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการและบริการสุขภาพ เพื่อรับใช้ประชาชนให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และสร้าง REAL WORLD IMPACT