วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันอาหารโลก หรือ World Food Day” โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) หรือ FAO เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของอาหารและการเกษตรทั่วโลก รวมถึงปัญหาความอดอยากหิวโหย อันเกิดจากการจัดการและการกระจายอาหาร ที่มีความเหลื่อมล้ำ เปราะบาง ประชากรโลกไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้แต่ละปี FAO จะเลือกหัวข้อหลักที่แตกต่างกัน เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาในปีนั้น สำหรับปี 2567 มาภายใต้แนวคิด“สิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อการเข้าถึงอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน “Right to foods for a better life and a better future. Leave no one behind”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า มนุษย์เราผูกพันกับอาหาร สิ่งที่เรารับเข้ามามีผลต่อวิถีชีวิตสุขภาวะ กินน้อยก็ผอม กินมากก็อ้วน กินไม่ถูกก็เกิดผลเสียต่อสุขภาพ พฤติกรรมการกินของเราจะถูกปลูกฝังติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กชอบกินอะไร โตมาก็จะกินแบบนั้นอย่างไรก็ตามปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น ผู้จัดการกองทุน สสส. เชื่อว่า วันนี้ปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเรา กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพน้อยลง กินอาหารหวานมันเค็ม อาหารแปรรูปมากขึ้น คือปัญหาของ ระบบอาหารที่มีความเปราะบาง เหลื่อมล้ำ และปัจจัยทางการค้าเป็นตัวกำหนดสุขภาพของคนทั่วโลก
ข้อมูลรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567 โดย FAO พบว่าประชากรโลกเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งหิวโหยเฉียบพลันและเข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหาร จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจำนวนกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย สำหรับเด็กไทยมีภาวะผอม 5 – 10% แม้อยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่กลับสะท้อนว่ายังมีกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ และขาดความรู้ ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่สมดุลและเหมาะสมตามช่วงวัย
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. และภาคีเครือข่าย มุ่งสานเสริมพลังความร่วมมือเพื่อสร้างพลเมืองอาหารที่มีความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืน ส่งเสริมระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหารของประชาชน
“ระบบอาหารที่ยั่งยืน คือ ระบบอาหารที่มีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืนขึ้น เพื่อรับมือกับวิกฤตอาหารที่มีความเปราะบางและเหลื่อมล้ำ” ผู้จัดการกองทุน สสส. เชื่อว่า แนวทางดังกล่าว จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารได้อย่างยั่งยืน
สสส. มุ่งเป้าหมายส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล เป็น 1 ใน 7 ทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ.2565-2574) ของ สสส. โดยกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน 3 ด้าน 1.ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอาหารปลอดภัย 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัยและการกระจายอาหารเพื่อสร้างการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะ 3.สนับสนุนการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความหลากหลาย โดยเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้อย่างสมดุล เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
เช่นเดียวกับ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงการกินสมดุล “Healthy Balanced Diet” ว่า ในปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค NCDs อาหาร เป็นปัจจัยแรกที่นำไปสู่การเกิดโรคดังกล่าว เมื่อก่อนอาจจะพบการขาดสารอาหาร แต่ตอนนี้เราเผชิญกับสถานการณ์ภาวะทุพโภชนาการทั้งขาดและเกิน คนจนในเมืองขาดแคลนอาหารมากกว่าชนบท เพราะมีพื้นที่น้อย บริบทสังคมแต่ละช่วงเวลามีความผันแปรเราต้องมาจัดการที่ต้นทางของการผลิตอาหาร การแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก เรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่นเดียวกับการป้องกัน NCDs ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศแนวหน้าของโลกแล้วอะไรที่ สสส. ทำมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการกินอาหารเพื่อสุขภาวะ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เผยว่า สสส. รณรงค์ส่งเสริมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างสมดุลตามหลักโภชนาการ โดยสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนให้มีวิถีการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตามแนวปฏิบัติการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี หรือ ธงโภชนาการ รณรงค์สื่อสารสาธารณะด้วยรหัสเด็ดลดพุงลดโรค 2 1 1 แบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วน ข้าว 1 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน ผัก 2 ส่วน รณรงค์กินผักผลไม้ 400 กรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ได้ แต่ก็จะเจอปัญหาต่อมาว่าผักปลอดภัยหรือเปล่า เพราะบ้านเราผักปนเปื้อนสารเคมี มาตรการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาจช่วยลดการปอนเปื้อนได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ต้องมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หรือผู้บริโภคสามารถลดการปนเปื้อนด้วยการล้างผักผลไม้ ก็ช่วยลดการปนเปื้อนสารเคมีลงได้กว่า 80%-90% เช่นเดียวกับการเลือกกินผักผลไม้ตามฤดูกาล การกินผักผลไม้นอกฤดูอาจมีการใช้ปุ๋ยใช้ยาเยอะ นอกจากนี้ สสส. ยังได้รณรงค์สื่อสารสาธารณะ ภายใต้แคมเปญ “ลดหวาน ลดโรค” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ สร้างค่านิยมลดการบริโภคหวานที่ล้นเกิน ขับเคลื่อนนโยบายหวานพอดีที่ 4 กรัม และนโยบายภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ทำให้มีเครื่องดื่มหวานน้อยออกสู่ตลาดมากขึ้น 35% สนับสนุนหน่วยรับรองฉลากทางเลือกสุขภาพให้กับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เพื่อสร้างทางเลือกการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับประชาชน ส่วนเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายลดการบริโภคเค็ม สสส. และภาคีเครือข่ายอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนด้วยเช่นเดียวกัน
“การกินไม่สมดุลจนส่งผลต่อสุขภาวะ เกิดปัญหาโรค NCDs ทั่วโลก นำมาซึ่งความเสียหายทั้งสุขภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ เจ้าหน้าที่วิชาการด้านโรคไม่ติดต่อองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO) กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาวหาน มะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง และสุขภาพจิต เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 74% หรือคิดเป็น 4 แสนรายต่อปี มูลค่าความสูญเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 9.7% ของ GDP โดยเป็นค่ารักษาพยาบาล 139,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงของระบบอาหารในปัจจุบันส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาวะโภชนาการ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนยากจน เพราะอาหารที่มีพลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียมสูงมีราคาถูกและเข้าถึงง่าย อาหารที่ดีต่อสุขภาพเข้าถึงยาก ราคาแพง วิถีการบริโภคอาหารแปรรูปเพิ่มมากขึ้น มีการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภค
ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพและโภชนาการเหมาะสมเข้าถึงทุกคนได้อย่างทั่วถึง ด้วยการทำให้ระบบอาหารและโครงสร้างการผลิตมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปฏิรูปภาคการผลิตให้เพิ่มการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน นโยบายทางการเกษตรและการค้าต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อการผลิตอาหารที่มีความหลากหลายและโภชนาการเหมาะสมโดยใช้แนวปฏิบัติที่ยั่งยืน และการลงทุนเพื่อห่วงโซ่การผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ โดยนโยบายต่างๆ เช่น มาตรการทางราคาและภาษี มาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการที่มีการปรับสูตรอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การกำหนดเพดานเพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหาร และการให้ความรู้กับประชาชน เป็นต้น
ผู้แทน WHO กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกเสนอมาตรการที่มีประสิทธิภาพ สำหรับภาคการผลิตอาหารเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางอาหารที่ดีและส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ 1.Restriction of marketing :การควบคุมการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก 2.Food labelling : ฉลากโภชนาการที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 3.Reformulation : การปรับสูตรอาหารและเครื่องดื่ม 4.Procurement policy: การจัดซื้อจัดหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพในหน่วยงานรัฐและเอกชน 5.Tax and subsidies : ภาษี และการให้เงินสนับสนุนเพื่อการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
“อาหารที่โภชนาการไม่เหมาะสม ภาวะทุพโภชนาการและ NCDs มีความเกี่ยวข้องกับระบบการผลิต การขาย การทำการตลาด และการบริโภคอาหาร การปฏิรูประบบอาหารเพื่อเพิ่มการผลิต การเข้าถึง และการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรค NCDs และองค์การอนามัยโลก จึงเสนอมาตรการที่มีประสิทธิภาพดังกล่าว เพื่อจัดการกับปัญหาทุพโภชนาการและ NCDs อีกทั้งยังช่วยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อโลก” ผู้แทน WHO ย้ำถึงแนวทางการชับเคลื่อนตามกระแสโลก
ด้าน รศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทย จากการเก็บข้อมูลประชากรกว่า 14,000 ราย โดยเมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างที่กินอาหารได้ต่ำกว่าเกณฑ์ธงโภชนาการ ใน 6 กลุ่มประเภทอาหาร ได้แก่ ข้าวแป้ง 65.5% กลุ่มผัก 72% กลุ่มผลไม้ 81.3% กลุ่มเนื้อสัตว์ 64% กลุ่มนมจืด/นมพร่องมันเนย 99.9% และการดื่นน้ำเปล่า 58% หากลงลึกไปในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มที่บริโภคต่ำกว่าเกณฑ์ ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้ง 62% กลุ่มผัก 72% กลุ่มผลไม้ 65.2% กลุ่มเนื้อสัตว์ 12.6% กลุ่มนมจืด/พร่องมันเนย 96% และกลุ่มน้ำดื่ม 58% ในขณะที่กลุ่มที่บริโภคมากกว่าเกณฑ์ของ 6 กลุ่มประเภทอาหาร ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้ง 3.5% กลุ่มผลไม้ 16.1% กลุ่มเนื้อสัตว์ 51.4% กลุ่มนมจืด/พร่องมันเนย 3.9% โดยไม่พบในผักและน้ำดื่ม
ฉะนั้นการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเป็นมากกว่าการกิน ซึ่งจะต้องประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรม สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านอาหารกับวิถีการกินอาหารของคนไทย ที่พบว่า คนที่มีความรอบรู้ด้านอาหารมากขึ้นมีแนวโน้มกินผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และน้ำดื่มได้ตามเกณฑ์มากขึ้น และมีแนวโน้มกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เครื่องดื่มรสหวาน อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมถุงรสเค็ม ลดลง
ทั้งนี้สถาบันวิจจัยประชากรและสังคม เสนอแนะว่า มาตรการส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารต้องไปไกลกว่าการให้ความรู้ มาตรการส่งเสริมความรอบรู้ต้องทำคู่ไปกับมาตรการสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหาร สถาบันวิชาการอาจต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยของความไม่รอบรู้ ติดตามระดับความรอบรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของคนไทย และท้ายสุด คือ การนำข้อมูลไปใช้เพื่อการวางแผนการดำเนินงาน และขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารให้กับผู้บริโภค
“ระบบอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นย่อมสัมพันธ์กับระบบอาหารที่ยั่งยืน นี่คือโจทย์ที่ทุกภาคส่วนจะต้องหันมาจับมือกันขับเคลื่อน เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะดี” รศ.ดร.สิรินทร์ยา ย้ำ