ขนทัพโขน ลิเกชื่อดัง “ศรราม น้ำเพชร” หนังใหญ่ ลำตัด งิ้ว เพลงพื้นบ้านร่วมแสดงอย่างอลังการ ชวนเที่ยววังยามค่ำคืน ช็อปผลิตภัณฑ์ CPOT สร้างรายได้ให้ศิลปิน ชุมชน 22-26 ส.ค.นี้ ที่พิพิธภัณสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 22 สิงหาคม 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “ศาสตร์ศิลป์ตระการตา เลอค่ามรดกวัฒนธรรม” โดยมีนางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 25 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ วันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2567 ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภาคเหนือ วันที่ 16 – 20 สิงหาคม 2567 ณ พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ภาคกลางและภาคตะวันออก วันที่ 22 – 26 สิงหาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 5 – 9 กันยายน 2567 ณ ลานศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมให้คนไทยแต่ละภูมิภาคได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและเสริมพลังความเข้มแข็งของสถาบันหลักของชาติ ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมของไทย ทำให้เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และร่วมสืบสานอนุรักษ์ไว้ นำทุนทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มศิลปิน ผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรม และผู้ประกอบการด้านอื่นๆในพื้นที่จัดงานและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์และวิถีชุมชนให้เกิดการรับรู้และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนให้มากขึ้น
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคกลางและภาคตะวันออก ในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ชื่องาน “ศาสตร์ศิลป์ตระการตา เลอค่ามรดกวัฒนธรรม” ระหว่างวันที่ 22 – 26 สิงหาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงโขน ตอนพระรามราชสุริยวงศ์ รำไทย ชุด “ปราจีนบุรีศรีบูรพาอาศิรวาท” โขนสด เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกวิรุญจำบัง การบรรเลงดนตรีสากลโดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เพลงพื้นบ้านภาคกลาง การแสดงชุดศาสตร์ศิลป์คู่ถิ่นไทย Performing Arts การแสดงหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ชมรมยุวชนคนรักษ์หุ่น การแสดงฉ่อยจากศิลปินแสตมป์-มหา ลำตัดคณะหวังเล็กเสียงทอง การแสดงงิ้วพูดไทยร้องไทย เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ตอนพิพากษาเปาเหมี่ยน การแสดงชุดคุณพระอโยธยา เลอค่าศาสตร์ศิลป์เสียงไทย การแสดงหนังใหญ่วัดขนอน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกทศกัณฐ์ ครั้งที่ ๕ (ยกรบ)
นอกจากนี้ มีการแสดงขับร้องเพลงโดยศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ นายวินัย พันธุรักษ์ นางสุดา ชื่นบาน และนางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ การแสดงลิเกโดยคณะ“สมาคมลิเกประเทศไทย”จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี การขับร้องเพลงโดยนายศรราม อเนกลาภ (ศรราม น้ำเพชร) นักแสดงลิเกชื่อดัง การแสดงรวมดาวลิเกกรุงเก่าและการแสดงของโรงเรียนต่างๆ เช่น การแสดงอังกะลุง การบรรเลงขิมสาย รวมทั้งการสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (วิถีชาววัง) เช่น งานร้อยพวงมาลัย งานช่างแทงหยวก งานช่างแกะสลัก ผัก ผลไม้ งานปักผ้าโบราณ ขนมไทยชาววัง เป็นต้น ตลอดจนมี MINI Art Market กิจกรรมวาดภาพ จำหน่ายผลงานศิลปะร่วมสมัย และนิทรรศการผลงานจากการประกวดวาดภาพ หัวข้อ “วิถีถิ่น วิถีไทย ศาสตร์ศิลป์ตระการตา เลอค่ามรดกวัฒนธรรม” โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก 25 จังหวัด
“การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยทั้ง 4 ภูมิภาคมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายวธ.ในการนำวัฒนธรรมไทยมาสืบสาน รักษา และต่อยอดไปสู่มิติใหม่ๆให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทยเพื่อสนับสนุนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อน Soft Power การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยมุ่งยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติเพื่อเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวของคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ” นางยุพา กล่าว