กระทรวงวัฒนธรรม น้ำท่วม ป้องกันน้ำท่วมโบราณสถาน อยุธยา

“รมว.สุดาวรรณ” ลงพื้นที่ติดตามมาตรการป้องกันน้ำท่วมโบราณสถาน มรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วันที่ 10 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและมาตรการป้องกันน้ำท่วมโบราณสถานและความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการบูรณะโบราณสถานในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และประชุมติดตามความคืบหน้าการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessments…

Home / PR NEWS / “รมว.สุดาวรรณ” ลงพื้นที่ติดตามมาตรการป้องกันน้ำท่วมโบราณสถาน มรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วันที่ 10 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและมาตรการป้องกันน้ำท่วมโบราณสถานและความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการบูรณะโบราณสถานในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และประชุมติดตามความคืบหน้าการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessments – HIA)ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (รถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – หนองคาย ช่วงสถานีอยุธยา) ในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว) ในการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการ/กิจกรรมของกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ – ๒๕๖๘ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า จากการตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งตั้งอยู่ช่วงที่แม่น้ำเจ้าพระยาแคบที่สุด จึงมีความเสี่ยงที่ระดับน้ำจะล้นตลิ่งเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา จึงใช้วิธีป้องกันโดยการตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมรูปแบบที่สามารถยกตั้งขึ้นและพับเก็บได้บริเวณด้านตะวันออกของวัดริมแม่น้ำ แนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาว 160 เมตร สูงจากผิวบนสุดของขอบตลิ่งประมาณ 1.80 เมตร และสามารถต่อความสูงเพิ่มเติมเป็น 2.40 เมตร ส่วนด้านใต้ ด้านตะวันตก มีแนวกำแพงป้องกันน้ำถาวรก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนด้านเหนือใช้แนวทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3469 เป็นแนวป้องกัน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่โบราณสถานที่มีการดำเนินงานตั้งแนวป้องกันน้ำท่วม ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จำเป็นต้องป้องกันการเกิดอุทกภัยทุกปี เพื่อรับรองสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น โดยได้กำชับให้กรมศิลปากรบูรณาการการทำงานในการดูแลโบราณสถานสำคัญกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ พื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังคงปรากฏความเสี่ยงด้านต่างๆ รวมถึงอุทกภัยที่อาจมีผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก ในระดับแผนปฏิบัติการ กรมศิลปากรได้บรรจุแผนงานมาตรการลดผลกระทบจากภัยพิบัติไว้ในร่างแผนปฏิบัติการการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พุทธศักราช 2566 – 2575 ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินงานตามมาตรการป้องกันผลกระทบจากภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่มรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนคร ศรีอยุธยา โดยมีการบริหารจัดการเป็นขั้นตอนในทุกปี มีการวิเคราะห์ปัญหาและจัดทำแผนการทำงาน ประชุมติดตามการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessments – HIA) ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – หนองคาย ช่วงสถานีอยุธยา) ในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว) ซึ่งศูนย์มรดกโลกได้แสดงความกังวลและสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง และขอให้มีการจัดทำรายงานฯ (HIA) ที่อาจมีต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยมีกำหนดแล้วเสร็จก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกเดินทางลงพื้นที่ แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้ คำปรึกษาแนะนำการประเมินและลดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก ในช่วงเดือนกันยายน 2567

นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้รายงานการดำเนินโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และกองทุนโบราณสถานโลกเข้ามาร่วมมือในการบูรณะโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 (ภายหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554) จนถึงปัจจุบัน โดยมีการทำงานในรูปแบบคณะทำงานร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาชีพของกรมศิลปากรและนักอนุรักษ์ชาวไทยและชาวต่างประเทศของกองทุนโบราณสถานโลก ที่ผ่านมาดำเนินงานหลัก 2 ด้าน ประกอบด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานและการจัดอบรม/การประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจะมีพิธีปิดโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามที่ใช้งบประมาณจากสถานทูตสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2567