KDMS Hospital นิ้วล็อก โรคนิ้วล็อก

นิ้วล็อก เหยียดงอนิ้วไม่ได้ รู้ทันโรคใกล้ตัวของวัยทำงาน รักษาอย่างไร?

เหล่าพนักงานออฟฟิศหรือกลุ่มที่มักจะใช้นิ้วมืออยู่บ่อยๆ ควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อประเมินให้เห็นถึงอาการและระยะความรุนแรงของนิ้วล็อก

Home / PR NEWS / นิ้วล็อก เหยียดงอนิ้วไม่ได้ รู้ทันโรคใกล้ตัวของวัยทำงาน รักษาอย่างไร?
นิ้วล็อก

การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็นบริเวณมือและนิ้วจากพฤติกรรมการทำงานอยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานนั้นสามารถทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ และถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากในหมู่คนทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้เมาส์ ใช้คีย์บอร์ดอยู่บ่อยๆ โดยอาการนิ้วล็อกนี้ สร้างอุปสรรคในการใช้ชีวิต ทั้งยังสร้างความเจ็บปวดให้กับหลายคนจนไม่สามารถใช้นิ้วมือได้อย่างคล่องแคล่วดังเดิม ทาง KDMS Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข จึงอยากจะมาแชร์เรื่องของอาการนิ้วล็อก พร้อมแนวทางการรักษานิ้วล็อก เพื่อให้คนที่กำลังเจออาการนี้อยู่ได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญ รวมถึงหาทางแก้ไขได้รวดเร็วด้วย

นิ้วล็อก เป็นอย่างไร

นิ้วล็อก (Trigger Finger) เกิดจากการใช้งานมือและนิ้วมืออย่างหนักในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การพิมพ์ การใช้เมาส์ และคีย์บอร์ด การใช้สมาร์ตโฟน หรือการหยิบ คว้า จับสิ่งต่างๆ โดยมีการเกร็ง งอ และเหยียดนิ้วซ้ำๆ อย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นที่บริเวณนิ้วมือมีการเสียดสีและเกิดการอักเสบบวมขึ้นจนไม่สามารถเคลื่อนไหวนิ้วได้สะดวก ทั้งอาการอักเสบที่เกิดขึ้น อาจไปขัดกับปลอกหุ้มเส้นเอ็น จนทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวนิ้วสะดุดกึก รู้สึกเจ็บ และอาจหนักขึ้นจนทำให้นิ้วล็อกติด ไม่สามารถกำมือหรือเหยียดนิ้วออกไปได้อย่างเต็มที่ และหากปล่อยอาการนิ้วล็อกนี้ให้เรื้อรังเป็นเวลานานจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพนิ้วและข้อมืออย่างแน่นอน

อาการของนิ้วล็อก

เหล่าพนักงานออฟฟิศหรือกลุ่มที่มักจะใช้นิ้วมืออยู่บ่อยๆ ควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อประเมินให้เห็นถึงอาการและระยะความรุนแรงของนิ้วล็อก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูและรักษาที่รวดเร็ว โดยอาการของนิ้วล็อกที่สามารถสังเกตได้อาจเป็นอาการเมื่องอหรือยืดนิ้วแล้วจะรู้สึกสะดุดกึก มักเกิดอาการนิ้วแข็งในช่วงเช้า มีอาการตึงและรู้สึกได้ถึงบางอย่างที่นูนขึ้นบริเวณโคนนิ้วที่ล็อก เมื่องอนิ้วแล้วนิ้วจะล็อก และมักจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อยืดนิ้วออกกะทันหัน ไปจนถึงนิ้วล็อกจนไม่สามารถยืดนิ้วกลับได้

ทั้งนี้ อาการนิ้วล็อกอาจขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะแรก อาจเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
  • ระยะ 2 เมื่อกำหรือเหยียดนิ้วออกจะมีอาการสะดุดแต่ยังสามารถเหยียดออกได้เอง
  • ระยะ 3 เมื่อกำมือหรืองอนิ้วจะเกิดอาการนิ้วล็อก และไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วย
  • ระยะ 4 จะกำมือได้ไม่สุด ข้อนิ้วอาจงอจนผิดรูป

แนวทางการรักษานิ้วล็อก

นิ้วล็อก เป็นอาการที่เกิดได้กับทุกคนที่มีพฤติกรรมการใช้งานนิ้วมือในท่าเดิมแบบซ้ำๆ ตลอดเวลา เมื่อมีอาการแล้วจึงควรหาวิธีการรักษาฟื้นฟู ซึ่งแนวทางการรักษานิ้วล็อกจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนด้วย โดยไล่ตั้งแต่การพักผ่อนและปรับพฤติกรรม การรักษาโดยการรับประทานยาและฉีดยา ไปจนถึงการผ่าตัด

พักผ่อนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สำหรับคนที่อยู่ในอาการปวดเริ่มต้น อาจใช้การหยุดพักการใช้งานมือสักระยะ หมั่นประคบร้อนหรือเย็น หรืออาจใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (Splinting) เพื่อลดการงอหรือยืดเหยียดของนิ้วมือ รวมไปถึงการออกกำลังกายยืดเส้นเบาๆ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุ เช่น การงอนิ้วมือบ่อยหรือแช่เกร็งในท่าเดิมเป็นเวลานาน อย่างเช่น การพิมพ์คีย์บอร์ด การคลิกเมาส์ การอ่านหนังสือ การถือของหนัก และการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

การใช้ยารักษานิ้วล็อก

หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการปวดและนิ้วล็อกยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะให้ทานยาต้านการอักเสบ หรือบางรายอาจมีการฉีดลดการอักเสบชนิดสเตียรอยด์เข้าที่บริเวณอักเสบบวมโดยตรง

การผ่าตัดนิ้วล็อก

สำหรับบางรายอาจมีอาการนิ้วล็อกที่รุนแรง ทั้งปรับพฤติกรรม การรับประทานยา หรือฉีดยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์จึงอาจพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัด โดยจะผ่าที่บริเวณรอยโรคเพื่อคลายปลอกหุ้มเอ็นให้สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น ถือเป็นวิธีการรักษาที่ต้นเหตุควบคู่ไปกับการให้ยาและทำกายภาพบำบัด เป็นการผ่าตัดที่แผลเล็กและใช้เวลาไม่นาน หลังการรักษาจะช่วยให้นิ้วของผู้ป่วยไม่มีการเสียดสี ไม่สะดุดอีก และสามารถกลับมาใช้งานนิ้วมือได้ดังเดิม

ปัญหาสุขภาพที่ดูเป็นเรื่องเล็กอย่างนิ้วล็อก อาจไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิดเมื่อมีอาการเรื้อรังและรุนแรงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งนิ้วมือยังเป็นอวัยวะหลักที่ใช้งานและทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน รวมถึงการหยิบจับสิ่งต่างๆ ตลอดทั้งวัน ดังนั้น ใครที่รู้สึกว่ามีอาการสะดุดกึก ไม่สามารถงอหรือเหยียดนิ้วได้สุด หรือเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ อย่าปล่อยละเลยแต่ควรรีบเข้าพบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ โดยที่ KDMS Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข เข้าใจในปัญหาสุขภาพกระดูก ข้อต่อ และเส้นเอ็นเป็นอย่างดี จึงยินดีให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษานิ้วล็อกในระยะแรกเริ่ม ไปจนถึงแพคเกจผ่าตัดนิ้วล็อก ผ่าตัดคลายปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือ เพื่อแก้ไขอาการนิ้วล็อกสำหรับผู้ที่มีปัญหานิ้วล็อกรุนแรง โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมือ ข้อมือ และเเขน มั่นใจได้ถึงประสบการณ์และการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการรักษาได้กลับมาเคลื่อนไหวได้สะดวก และใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ