Javed Khan ผู้จัดการทั่วไป ComAsia Limited กล่าวว่า มั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการรองรับและเจาะตลาดนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ ซึ่งเป็นตลาดที่มีความแข็งแกร่งด้านการใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป สามารถสร้างผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจประเทศไทยจากการจับจ่ายทั้งการเดินทาง เข้าพัก ชอปปิง รวมถึงผลลัพธ์จากการเจรจาธุรกิจของนักเดินทางไมซ์. Mega Show Bangkok 2024 งานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ. จัดแสดงสินค้ากว่า 200 ราย จากประเทศ ไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และ จีน พบกับ Buyer กว่า 6,200 คนจากทั่วโลก. โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ นั่นคือประเทศไทยแข็งแกร่งด้านภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก ช่วยดึงดูดการเดินทาง ทั้งการเป็นจุดเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศจากหลายจุดหมายทั่วโลก ทั้งในอาเซียน ตะวันออกกลาง ยุโรป และรัสเซีย รวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องการขอวีซ่า
จุดพลุจัดงาน Mega Show Bangkok 2024
ComAsia Limited ได้ประกาศจัดงานแสดงสินค้า “เมกา โชว์ แบงค็อก 2024” (Mega Show Bangkok 2024) ระหว่างวันที่ 17-20 ก.ค. 2567 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติไบเทค บนพื้นที่ 25,000 ตารางเมตร โดยมีงานแสดงสินค้าย่อยครอบคลุม 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.งานเมกา กิฟต์ แอนด์ โฮม 2.งานเมกา อิเล็กทรอนิกส์ 3.งานเมกา ฮาร์ดแวร์ แอนด์ การ์เดนนิง 4.งานเมกา เวลเนส แอนด์ เฮลธ์แคร์ 5.งานเมกา ไลท์ติง และ 6.งานเมกา เพ็ตส์ งานนี้สามารถรองรับได้กว่า 1,500 บูธ ล่าสุดได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแล้วประมาณ 1,000 บูธ โดยมีพาวิลเลียนนานาชาติจาก 10 ประเทศเข้าร่วม อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดีย บังกลาเทศและตุรกี รวมถึงประเทศไทยโดย ไทยแลนด์ พาวิลเลียน จะนำเสนอไฮไลต์ภายใต้แนวคิดหลัก “Design And Hospitality” (การออกแบบและบริการ) ครอบคลุมสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับบ้าน ของขวัญ ของพรีเมียม ของเล่นและเด็ก แฟชั่นและเครื่องประดับ ความสวยความงามและสุขภาพ รวมไปถึงสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
ทั้งนี้ คาดว่างานเมกา โชว์ แบงค็อก 2024 จะดึงดูดผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 20,000 รายจากทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ การันตีห้องพักโรงแรม 3,000 ห้องสำหรับผู้ซื้อจากต่างชาติ ซึ่งเป็นการนำงานแสดงสินค้าระดับเรือธง (Flagship) จากฐานใหญ่ในฮ่องกงมาจัดที่ประเทศไทย มั่นใจว่าจะเป็นงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่เข้ามาตอบโจทย์โอกาสการจัดหาสินค้าของผู้ซื้อต่างชาติได้อย่างสะดวก ด้านผู้ขายทั้งในประเทศไทย อาเซียน และจากหลายประเทศทั่วโลกสามารถต่อยอดการขายสินค้าจากการจัดงานนี้ได้ โดยการขยายไซส์งานเมกา โชว์ฯ มายังกรุงเทพฯ จะช่วยสร้างความคึกคักแก่ศูนย์กลาง (ฮับ) การค้าของภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี
ย้ำศักยภาพงานเมกา โชว์ฯ ระดับเวิลด์คลาส
นายนิคม เลิศมัลลิกาพร ประธานบริหาร บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. จำกัด ผู้ร่วมจัดงานเมกา โชว์ แบงค็อก 2024 กล่าวเสริมว่า ขนาดงานเมกา โชว์ แบงค็อกในปีนี้ใหญ่ขึ้น 4 เท่า เน้นให้โอกาสแก่ผู้ประกอบการธุรกิจในไทยมากขึ้น เปรียบเวทีนี้เสมือนฟาสต์เลน (Fast Lane) ในการทำตลาด ทั้งต้นทุนยังถือว่าถูกมากสำหรับธุรกิจไทยที่สนใจมาออกบูธงานนี้ ไม่ถึง 20% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการไปออกบูธที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความพร้อมสูงสุดหลายด้านในการจัดงาน โดยเฉพาะเรื่องคน การฟื้นตัวของเที่ยวบินระหว่างประเทศ สถานที่จัดงานแสดงสินค้า และค่อนข้างจะเป็นมิตรกับทุกฝ่าย นับเป็นประเทศที่ผู้ซื้อและผู้ออกบูธต่างชาติอยากเดินทางมาอยู่แล้ว ตอบโจทย์การเป็นเมืองไมซ์ (MICE City) “งานเมกา โชว์ แบงค็อก ถือเป็นงานโชว์ระดับเวิลด์คลาส เพราะมีผู้ซื้อระดับโลกเดินทางมาเข้าร่วมเพื่อจัดหาสินค้า ซึ่งมองหาความหลากหลาย ตอบโจทย์เป้าหมายผลักดันประเทศไทยเป็นสถานที่จัดหาสินค้า (Sourcing Place) ระดับโลก” ด้วยสถานการณ์การค้าและเดินทางทั่วโลกตอนนี้ พบว่าตลาดรัสเซียเดินทางไปไหนไม่ค่อยได้ จึงเลือกมาพำนักในไทยจำนวนมาก ขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง แม้ที่ผ่านมาจะนิยมเดินทางไปมาเลเซียมากกว่าไทย แต่เราก็ได้รุกโปรโมตงานนี้ที่มาเลเซียเพื่อดึงผู้ซื้อจากตะวันออกกลางมาเจรจาธุรกิจที่ไทย ส่วนตลาดยุโรปนั้นชอบไทยอยู่แล้ว ด้านตลาดอินเดียก็มีศักยภาพ เพราะเขามองว่าไทยคือสวรรค์ของการจับจ่ายซื้อสินค้า
ชูกลไกสนับสนุนค่าใช้จ่าย SME ออกบูธ
นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังไม่ดีมากนักในช่วงนี้ พอหมดยุคโควิด-19 ระบาด ทำให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องการเข้าร่วมงานนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีการอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนธุรกิจในการซื้อบูธงานแสดงสินค้าผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดความกังวลแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยคาดหวังว่าในงานเมกา โชว์ แบงค็อก 2024 จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้สิทธิการอุดหนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวมากกว่า 100 บูธ เพิ่มขึ้นจากงานปีที่แล้วซึ่งมี 47 บูธ
สำหรับนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ที่ทำธุรกิจขนาดย่อม (S) หากเป็นไมโคร เอสเอ็มอี (Micro SME) มีรายได้การผลิตไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี สสว.สนับสนุน 80% หรือไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนสมอลล์ เอสเอ็มอี (Small SME) มีรายได้การผลิตไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี สสว.สนับสนุน 80% หรือไม่เกิน 100,000 บาท แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดกลาง (Medium SME) ที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น มีรายได้จากการผลิตไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี ทาง สสว.สนับสนุน 50% หรือไม่เกิน 200,000 บาท
‘เอกชน’ เครื่องยนต์สำคัญดันสินค้าสู่ซอฟต์พาวเวอร์
นายชาญชัย กล่าวด้วยว่า “เพื่อสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดหาสินค้า (Sourcing Place) ซึ่งจะส่งอานิสงส์ด้านการเดินทาง ว่าไม่ได้มาแค่ร่วมงานแสดงสินค้าเท่านั้น แต่มาท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้เราอยากเห็นเอสเอ็มอีของประเทศไทยเติบโต ประสบความสำเร็จ ด้วยเล็งเห็นศักยภาพว่าภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการผลักดันสินค้าให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) โดยเชื่อว่าเอสเอ็มอีต่างต้องการตลาดที่ดี การพัฒนาและโปรโมตสินค้าที่ดี มีดีไซน์ เพื่อยกระดับภาพลักษณ์สินค้าของประเทศไทยให้ดีขึ้นในสายตาต่างชาติ”
นางสาวประไพพรรณ อัศวศิริเลิศ อุปนายกฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า สมาคมฯ คาดหวังว่าการได้เข้าร่วมงานขนาดใหญ่อย่าง เมกา โชว์ แบงค็อก 2024 จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเปิดตลาด แสดงศักยภาพของสินค้าไทยแก่ตลาดโลก แม้ธุรกิจของผู้ประกอบการบางรายจะเป็นระดับไมโครเอสเอ็มอี แต่ก็สามารถแสดงศักยภาพให้ตลาดต่างชาติเห็นได้ โดยในสมาคมฯ มีการหารือกันว่าการยกระดับความร่วมมือ เช่น การทำคอลแลบส์ (Collaboration Marketing) สร้างความร่วมมือระหว่าง 2 แบรนด์ น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยกระจายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศของแต่ละแบรนด์ได้เป็นอย่างดี