กฎหมายคุมไม่อยู่ บุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในโรงเรียนประถม เด็กชั้นป.5 แอบซื้อขายโรงเรียน ขณะที่ผลสำรวจกรมควบคุมโรคพบเด็กไทยสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” สูง 17.6% เด็กสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า ผู้หญิงสูบมากขึ้น ซื้อผ่านออนไลน์สูง 80% และ มีทัศนคติเชิงบวกบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ขณะที่กลยุทธ์บริษัทบุหรี่ล๊อบบี้นักการเมือง ตั้งเป้าหมายขายในไทยเร็วๆนี้
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดงานเสวนา “เจาะลึก เบื้องหลังบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเด็กไทย” ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ เมื่อเร็วๆนี้ พบว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนค่อนข้างน่าเป็นห่วงมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทยสูงถึง 17.6% หรือเพิ่ม 5.3 เท่าระหว่างปี 2558-2565
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยอายุ 13-15 ปีค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยจากการสำรวจเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พื้นที่โรงเรียนทั่วประเทศ พบข้อสำคัญ 4 ประเด็น
1. การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากปี 2558 พบ 3.3% แต่ปี 2565 ล่าสุดพบสูงถึง 17.6% เพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า ผู้ชายสูบเพิ่ม 4.7 เท่า ผู้หญิงสูบมากขึ้น 7.9 เท่า
2. อุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์มุ่งเป้าที่เด็ก มีการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว คือ จาก 27% เป็น 48% นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ในการโฆษณาในเรื่องของรสชาติใหม่ที่สร้างความจูงใจในการซื้อมากขึ้น
3. ผลสำรวจพบว่าความรู้หรือทัศนคติเด็กและเยาวชน เปลี่ยนแปลงไป โดยมีทัศนคติในเชิงบวกมากขึ้น จากเดิมเด็กจะไม่เห็นด้วยการสูบบุหรี่ที่สาธารณะและเข้าใจพิษภัยบุหรี่ แต่ขณะนี้เด็กไทยอคิดเห็นควันบุหรี่มือสองลดลง เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจปลอดภัยกว่าบุหรี่ หรือควันในบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย และตัดสินใจเลิกยาสูบลดลงจาก 72.2% เหลือ 59%
4. ส่วนการสื่อสาร พบว่าเด็กรับทราบสื่อต่างๆ เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ลดลงทุกช่องทางสื่อ จาก 74.9% เหลือ 61.3% หรือตามงานอีเวนต์ต่างๆ ที่รณรงค์ก็ลดลงจาก 72.2% เหลือ 62.4% ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ที่เรามีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เริ่มสูบ หรือสูบแล้วต้องการเลิก พบว่า ลดลงเช่นกันจาก 38.4% เหลือ 28.6%
นอกจากนี้ยังพบว่าในโรงเรียนการสอนเกี่ยวเรื่องของพิษภัยบุหรี่ลดลง จาก 76.2% เหลือ 65.8% จึงนำไปสู่เรื่องการแก้ไขปัญหา
“ผลสำรวจนี้ตอกย้ำว่า เรายังคงต้องควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และยืนยันว่าต้องไม่รับรองบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายและต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะ ในช่องทางโชเซียลมีเดีย”
ด้าน ครูสุวิมล จันทร์เปรมปรุง เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลของกรมควบคุมโรค สอดคล้องกับสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนที่เด็กค่อนข้างน่าเป็นห่วงมากจากการทำงานเครือข่ายกับโรงเรียนและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน พบว่าขณะนี้ เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา และ พบมีการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน โดยในบางโรงเรียนพบว่าเด็ก ป.5ซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาแลกขายให้เพื่อนสูบครั้งละ 5-10 บาท ขณะที่ความรู้ความเข้าใจของครูบางคนยังมีน้อยเรื่องของอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า แม้แต่ผู้ปกครองบางคนยังเข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยจึงไม่ห้ามให้เด็กสูบทำให้สถานการรณ์บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กเยาวชนน่าเป็นห่วงมาก
“ในฐานะที่เป็นครู ขอยืนยันว่า ประเทศยังต้องห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า และยังต้องมีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพราะหากยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า จะยิ่งทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ซ้ำจะยิ่งทำให้การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นทั้งร้านค้าใต้ดินและบนดิน ดังนั้นเครือข่ายครูฯ จึงมีความเห็นว่ารัฐบาลควรจะคงมาตรการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป แต่เพิ่มความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมาย และเร่งให้ความรู้กับเด็ก ครู และผู้ปกครอง” ครูสุวิมลกล่าว
ขณะที่นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน มีโฆษณา และจัดทำรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งแบบการ์ตูน กล่องนม เพื่อฝังให้เด็กคิดว่าไม่อันตราย และยังพบว่ากลยุทธ์การตลาดจะเจาะลงไปในเด็กมากขึ้น ขณะที่อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าบุหรี่มวน เนื่องจากมีปริมาณนิโคตินสูงกว่าจากการเพิ่มปริมาณได้ตลอดเวลาแตกต่างจากบุหรี่มวนที่มีการจำกัดปริมาณนิโคตินต่อมวน ซึ่ง นิโคตินมีผลกระทบทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก และทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน นับเป็นภัยคุกคามเยาวชนที่น่ากังวลมาก
ด้าน รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า บริษัทที่ขายบุหรี่ไฟฟ้า กำลังวิ่งเต้นอย่างหนักเพื่อต้องการให้ประเทศไทยเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ ในเร็วๆนี้ โดยยอมรับว่า ขณะที่นี้กำลังทำงานกับนักการเมืองไทยเพื่อผลักดันในเรื่องนี้ จึงกังวลว่าจะซ้ำรอยกับที่อังกฤษที่พบว่ามีการวิ่งเต้นนักการเมือง ส่งคนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎร โดยคนกลุ่มนี้อ้างตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องสิทธิการสูบ และมักอ้างข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า
ขณะที่นางสาวบังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ ได้ยกบทเรียน ประเทศ ที่เปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าขายอย่างถูกกฎหมาย เช่น อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ตอนนี้การระบาดในเด็กและเยาวชนหนักมาก งานวิจัยในอินโดนีเซียพบว่า เยาวชน 49% ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ในฟิลิปปินส์ มีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ถึงกว่า 16,000 ร้าน
ในทางตรงข้าม สิงค์โปร์ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดีมาก ทุกหน่วยงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ และจับปรับจริง บวกกับการรณรงค์ทาง Social media ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับคำแนะนำองค์การอนามัยโลกทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในสิงค์โปร์มีน้อย
ด้านนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวย้ำว่า สสส.ยังคงจุดเดิมคือ ไม่สนับสนุนสิ่งที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามใหม่ในเด็กและเยาวชน สสส. สนับสนุนให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันการเข้าถึงของเด็ก และจะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่างๆ ในการสื่อสารรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูล/ข้อเท็จจริงของอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า/ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ทำให้สังคมรู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และการเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน