วธ.ยกระดับเทศกาลประเพณีสู่นานาชาติ ชูเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก หนุนซอฟต์พาวเวอร์ด้านเฟสติวัลและท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดขบวนแห่โคมยี่เป็ง และร่วมงานพิธีถวายโคมแสนดวง “เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน” โดยมีพระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพงษ์เทพ มนัสตรง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดภาคเหนือ วัฒนธรรมจังหวัดเขตภาคเหนือ นักท่องเที่ยว ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมชมจำนวนมาก ณ บริเวณลานวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน
ปลัด วธ . กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อน Soft Power โดยเฉพาะด้านเฟสติวัลเทศกาลประเพณีและด้านท่องเที่ยว สอดคล้อง กับเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ต้องการยกระดับเทศกาลประเพณีของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ส่งเสริมคุณค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆ ด้านวัฒนธรรมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ในปี 2566 นี้ วธ. โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน จึงบูรณาการความร่วมมือกับวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน สภาวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดพิธีถวายโคมแสนดวง “เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน” เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานเทศกาลประจำปีโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔ ตุลาคม – ๒๗ พฤศจิกายน 2566 ณ บริเวณลานวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่องค์พระธาตุหริภุญชัยในประเพณียี่เป็งของทุกปี ซึ่งปีนี้จัดยิ่งใหญ่มีการประดับโคมยี่เป็งกว่าแสนดวง และการประกวดโคมไฟ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้มารับชมความงดงามเทศกาลประเพณีที่มีโคมล้านนาเป็นเอกลักษณ์ของชาวลำพูน
กิจกรรมภายในงานดังกล่าว ผู้ร่วมงานจะได้รับชมขบวนแห่โคมล้านนา และโคมนานาชาติ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จัดพิธีทางศาสนา การแสดงพระธรรมเทศนา “อานิสงส์การถวายประทีปโคมไฟ” (แบบพื้นเมืองล้านนา) โดยพระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน หลังจากนั้นมีพิธีถวายประทีปโคมไฟแด่องค์พระธาตุหริภุญชัย และกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์มีการจุดประทีปดวงไฟถวายองค์พระธาตุหริภุญชัยที่มีความสวยงามทั่วทั้งพื้นที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ด้วยแสง สี ตระการตา เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนที่ทำโคม ทำสวยดอก (กรวยดอกไม้) ส่งให้แก่วัดเพื่อให้พุทธศาสนิกชนบูชา ตลอดจนเกิดการจ้างงานศิลปินพื้นบ้านทุกแขนงมาแสดงในงาน ถือเป็นรายได้ที่กระจายสู่ชุมชนตลอดการจัดงานประจำปีโคมแสนดวงที่เมืองลำพูนนี้ ถือเป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีที่กระทรวงวัฒนธรรม ยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ
ทั้งนี้ การจุดโคมไฟถวายองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัยมีมาตั้งแต่โบราณซึ่งปัจจุบันเป็นการแขวนโคมพร้อมดวงไฟ หมายถึงการแสดงออกถึงการเคารพบูชา เพื่อให้เห็นในความสว่างของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นบารมีอันสูงส่งตามคติความเชื่อของชาวล้านนา นับเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน ส่วนการถวายโคมแด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำพูนเพราะพระนางจามเทวีเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองหริภุญชัย เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาเข้าในพื้นที่แห่งนี้และแผ่กระจายไปยังเมืองต่างๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความรุ่งเรือง ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันการถวายประทีปโคมไฟได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยวัดพระธาตุหริภุญชัยขยายพื้นที่จัดการตกแต่งการแขวนโคม ใส่ดวงไฟเข้าไปในโคมให้สวยงาม รวมทั้งการให้ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมถวายประทีปโคมไฟ ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศในชื่อ “เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน” ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดลำพูนและสร้างรายได้แก่ชุมชน