“เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง” คำขวัญประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนาว เขาค้อ ศรีเทพ แต่สำหรับจังหวัดใหญ่อันดับ 9 ของประเทศ วัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ยาวถึง 296 กิโลเมตร มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งแนวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
ครั้งนี้เราจะลองมาท่องเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวีรกษัตริย์นอกประวัติศาสตร์ผู้สร้างชาติไทย กับ “เที่ยวตามรอยพ่อขุนผาเมือง” กันค่ะ ก่อนจะเดินทางถึงจุดหมายหลัก เราได้ผ่าน อ.ศรีเทพ ที่ล่าสุด เมืองโบราณศรีเทพ เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ต่อจากสุโขทัย พระนครศรีอยุธยา และบ้านเชียง และยังเป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 7 ของประเทศไทย เราจึงไม่พลาดที่จะแวะเยี่ยมชมแหล่งอารยธรรมโบราณที่กำลังได้รับความสนใจอย่างล้นหลามแห่งนี้ สำหรับเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี เป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคเหล็ก มีอายุราว 1,700 ปีมาแล้ว) และถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จากหลักฐานทางโบราณคดีและงานศิลปกรรมที่ปรากฎ แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการติดต่อรับอารยธรรมจากภายนอก ทั้งจากอินเดีย เขมร และเมืองทวารวดีแหล่งอื่นๆ จนทำให้เมืองโบราณศรีเทพเจริญรุ่งเรืองและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีจุดที่รถรางพาเราไปเยี่ยมชมได้แก่ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพ และเขาคลังใน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะลิ้มลองไอศกรีมโบราณศรีเทพ ที่มีให้เลือกชิมถึง 6 รสชาติ ห่างจากเมืองโบราณศรีเทพไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร เรามุ่งหน้าสู่ “โบราณสถานเขาคลังนอก” ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 64 x 64 เมตร ถือได้ว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยทวารวดี ล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวาร ด้านละ 3 ชั้น ซึ่งแผนผังลักษณะนี้เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาล แวะพักเติมพลังด้วย “ไก่ย่างวิเชียรบุรี” อาหารรสเด็ดที่มีให้เลือกชิมมากมายหลายร้านตลอดสองข้างทางแล้ว เราเดินทางต่อมาถึงบริเวณสี่แยกพ่อขุนผาเมือง บ้านน้ำชุน อ.หล่มสัก ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พ่อขุนผาเมือง ทำการสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด วีรกษัตริย์ไทยผู้ร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว เข้ายึดเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง ขับไล่ขอมออกจากสุโขทัย นำมาสู่การสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย
จากจารึกวัดศรีชุม ศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ที่กล่าวถึงพญาผาเมืองเพียงไม่กี่บรรทัด ดร.ดิเรก ถึงฝั่ง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ศึกษาและเรียบเรียงเรื่องราววีรกรรมสำคัญของพ่อขุนผาเมือง หลังจากท่านขับไล่ขอมแล้ว กลับสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาว ขึ้นเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยแทน เหตุเพราะทรงมีความใกล้ชิดกับทางราชสำนักขอมและมีพระมเหสีพระราชทานเป็นพระราชธิดาในกษัตริย์ขอม
โดยแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับพ่อขุนผาเมือง ได้แก่ วัดตาล ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า มาไหว้ขอพรจากหลวงพ่อใหญ่วัดตาล พระพุทธรูปที่ชาวหล่มเก่าเลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ สักการะศาลเจ้าแม่เข็มทอง หรือ พระนางเนาวรงค์เทวี ซึ่งเป็นพระชายาเดิมของพ่อขุนผาเมือง ก่อนราชาภิเษกสมรสกับพระราชธิดากษัตริย์ขอม และชิมขนมเส้นหล่มเก่า ของกินขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น
เจดีย์พ่อขุนผาเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยโปร่ง ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก เจดีย์เก่าแก่ศิลปะสมัยสุโขทัยที่สร้างไว้เป็นอนุสรณ์แก่พ่อขุนผาเมือง และบริเวณใกล้กันมีต้นจำปาพันปี หรือต้นลีลาวดีที่เชื่อกันว่าปลูกบูชาพระธาตุเจดีย์ เมื่อ พ.ศ.1765 มีลำต้นขนาดใหญ่และอายุมากที่สุดในประเทศไทย
ไหว้ขอพรหลวงพ่อตากแดด วัดโพนชัย ที่ตั้งของเจดีย์พระนางสิงขรมหาเทวี พระมเหสีของพ่อขุนผาเมืองที่ได้รับพระราชทานจากกษัตริย์ขอม พร้อมชมข้าวสารดำ เมล็ดข้าวสีดำสนิท ความเชื่อเรื่องนี้เกิดจากหลังพ่อขุนผาเมืองยึดสุโขทัยคืนจากขอม พระนางสิงขรมหาเทวีเกิดความไม่พอใจจึงจุดไฟเผาบ้านเผาเมือง คลังเสบียง ยุ้งฉางต่างๆไฟไหม้หมดจนกลายเป็นข้าวสารดำที่เห็นในปัจจุบัน
อนุสรณ์สถานเมืองราด ที่ประดิษฐานรูปปั้นของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ซึ่งก็คือบริเวณอำเภอหล่มสักในปัจจุบัน ด้านหลังเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระราชประวัติ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในยุคโบราณที่ขุดพบตามพื้นที่ต่างๆในจังหวัดเพชรบูรณ์
สัมผัสความเป็นมาของชุมชนไทหล่ม ที่ “พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์” พิพิธภัณฑ์ชุมชนที่ได้รวบรวมและจัดแสดงข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ไว้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งศึกษาทางด้านวัฒนธรรมประเพณีที่จับต้องได้ สายแชะน่าจะถูกใจเพราะในพิพิธภัณฑ์ และ Street Art ในบริเวณใกล้เคียงมีมุมให้ถ่ายภาพได้เพลินๆ ส่วนสายกิน “ลาบเป็ดหล่มสัก” เป็นอีกตำนานความแซ่บที่ต้องลอง และถ้าใครมาเที่ยวตรงกับวันเสาร์ ช่วงเย็นเวลา 17.00-21.00 น. สามารถเที่ยวชมถนนคนเดินและตลาดริมน้ำไทหล่ม ได้ด้วย
เที่ยวหล่มจุใจแล้ว เราได้มีโอกาสเข้าเมืองไปสักการะพระพุทธมหาธรรมราชาจำลององค์ใหญ่ที่สุดในโลก ณ พุทธอุทยานเพชบุระ พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่มาของประเพณีสำคัญของชาวเพชรบูรณ์ นั่นก็คือ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในวันสารทไทย แรม 15 ค่ำเดือน 10 นับว่าเป็นอัตลักษณ์อันงดงามและมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเมืองเพชรบูรณ์
ก่อนกลับเราก็ไม่ลืมซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไปด้วย แน่นอนว่าต้องเป็นมะขามหวานและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะขาม…ครบสูตรตามคำขวัญประจำจังหวัดเพชรบูรณ์!