วันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 09.09 น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ บริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในโอกาสนี้ มีผู้บริหาร เครือข่ายวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมแสดงความยินดี
ทั้งนี้ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดตั้งเมื่อ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น และเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2530 ปัจจุบันให้เป็นหน่วยงานในสังกัดสถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยอาคารต่าง ๆ เช่น หอประชุมใหญ่และเล็ก โรงละคร ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการภาษา และห้องโสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น ส่วน “หอไทยนิทัศน์” ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารนิทรรศการและการศึกษา นอกจากนี้ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยยังสามารถรองรับการจัดแสดงนิทรรศการ และการแสดงต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต ละครเวที รวมไปถึงเป็นสถานที่รองรับการจัดประชุมสัมมนาทั้งระดับชาติ และนานาชาติอีกด้วย
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งของไทยและต่างประเทศ ในการอนุรักษ์ สืบทอด รักษา ต่อยอดส่งเสริม สนับสนุนศิลปวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างสังคม มีภารกิจหลัก 3 ด้านในการ 1.สนับสนุนจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมของประเทศและนานาชาติ มากกว่า 30 รายการต่อปี 2.การรับเสด็จฯ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รวมทั้งการต้อนรับบุคคลสำคัญของประเทศและต่างประเทศ และ 3.การเปิดพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมการแสดงทั้งของประเทศและนานาชาติ
อธิบดีสวธ. เปิดเผยต่อว่า ตามนโยบาย THACCA (Thailand Creative Content Agency) ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในด้าน “ดนตรีและเฟสติวัล” ในการเปิดพื้นที่สาธารณะจัดการแสดงดนตรี สนับสนุนดนตรีไม่ตีกรอบ ส่งเสริมอย่างเท่าเทียม ทั้งดนตรีไทยเดิมและดนตรีร่วมสมัย ควรได้รับการสนับสนุน และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อนนโยบายรองรับ THACCA ด้วยการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปะและดนตรี เปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และแสดงออก นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
โดยในปี พ.ศ.2567 รัฐบาลได้กำหนดจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้เตรียมการจัดกิจกรรมการแสดงเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ศิลปินแขนงต่าง ๆ ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงเพิ่มมากขึ้น ดังนี้
1.การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตอน กุมภกรรณทดน้ำ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
2.การแสดงมหกรรมดนตรีแจ๊สเทิดพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 5 ธันวาคม 2566 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
3.งาน 84 ปีลูกทุ่งไทย ในวันที่ 14 มกราคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
4.งาน “ศรีศตวรรษวิเศษ ครูประเวช กุมุท” วาระครบรอบ 100 ปีชาติกาล ครูประเวช กุมุท ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2532 ในวันที่ 31 มกราคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดย คณะศิษย์ครูประเวช กุมุท มูลนิธิ ดุริยประณีต ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
5.งานวันศิลปินแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2567
6.งานมหกรรมรามายะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
7.การแสดงดนตรีไทย โดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ ปีพุทธศักราช 2567 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
8.งานมหกรรมการแสดงพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา เดือนกรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
9.การแสดงมหกรรมดนตรีเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา เดือนกรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
10.การจัดการเรียนการสอนด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและนานาชาติ เช่น การจัดการเรียนการสอน
ของวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย วงดุริยางค์เครื่องลมเยาวชนไทย การจัดการเรียนการสอนดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย เป็นประจำทุกวันเสาร์และอาทิตย์
11.การเปิดพื้นที่ให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ได้มีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรม การแสดงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทย ดนตรีสากล ดนตรีร่วมสมัย ศิลปวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ทุกแขนง ทั้งของไทยหรือนานาชาติ เช่น เปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจเข้ามาจัดกิจกรรมการแสดง ก่อนการแสดงในหอประชุมใหญ่ เป็นวงเล็ก ๆ คล้ายการเปิดหมวก เป็นต้น
ทั้งนี้ สวธ.ขอเชิญติดตามข่าวสาร ข้อมูลทางวัฒนธรรม ได้ทาง www.culture.go.th หรือเฟซบุ๊ค กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และติดตามกิจกรรมการแสดงได้ที่ https://www.tccbooking.net/activity หรือเฟซบุ๊ค ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยThailand Cultural Centre