พร้อมอิ่มอร่อยกับเมนูจานเด็ด ปลาทูซาเตี้ยะ-ไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวาน หนุนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 “ตลาดน้ำอัมพวา” โดยมี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายกฤษฎี กลิ่นจงกล นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวาและผู้นำชุมชน ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 10 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคกลาง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ ตลาดน้ำอัมพวา ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรม ชื่อชุดการแสดง “แม่กลองเมืองงาม” และการแสดงโขนในเรือ จากชมรมศิลปวัฒนธรรมอัมพวา มอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนตลาดน้ำอัมพวา ได้แก่ เทศบาลตำบลอัมพวา และโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ พร้อมเดินเยี่ยมชมตลาดน้ำอัมพวา และเดินทางเข้าสู่ตลาดวัฒนธรรม ชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT/CCPOT) ชมนิทรรศการภาพถ่าย “ตลาดน้ำอัมพวา”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีเป้าหมายและพันธกิจสำคัญ ในการเทิดทูนสถาบันหลัก รักษาสืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งขับเคลื่อนงาน เพื่อปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน จึงได้ดำเนินโครงการ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยดำเนินการ พัฒนาศักยภาพ เส้นทางท่องเที่ยวตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทยและจัดพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน พร้อมสนับสนุนขยายช่องทางการตลาดประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ให้ตลาดน้ำเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า นับว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ตลาดน้ำอัมพวาแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือก เป็น 1 ใน 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของ วธ. ภาพความสำเร็จในวันนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ตลาดน้ำอัมพวามีผู้นำและเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ชุมชนมีทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นตลาดน้ำที่ล้ำค่า มีสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่หลากหลายน่าสนใจ คนในชุมชนมีความรักสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีความพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนเป็นอย่างดี
นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ตลาดน้ำอัมพวาตั้งอยู่ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นตลาดริมน้ำซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ตั้งแต่สมัยโบราณ และได้เลือนหายไประยะเวลาหนึ่ง ทางเทศบาลตำบลอัมพวาจึงได้ฟื้นฟูตลาดน้ำอัมพวาขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2547 ซึ่งนับว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมาทำให้ตลาดน้ำอัมพวาซบเซาลงเป็นอย่างมาก สำหรับการเปิดตัวตลาดน้ำอัมพวาในครั้งนี้ ถือเป็นการปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและกระตุ้นสร้างการรับรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงการกลับมาของตลาดน้ำอัมพวา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ตลาดน้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่งคั่งยั่งยืนให้แก่ชุมชนและประเทศชาติ พร้อมทั้ง เป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ปลูกฝังให้แก่เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม นำไปสู่การอนุรักษ์สืบสาน โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม
นายกฤษฎี กลิ่นจงกล นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา ในนามผู้นำชุมชน และผู้ขับเคลื่อนตลาดน้ำอัมพวา กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จต่อการบริหารจัดการตลาดน้ำอัมพวาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้มาจนถึงทุกวันนี้ ได้รับการสนับสนุนและการหนุนเสริมจากหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งในและนอกพื้นที่ ความร่วมมือและความสามัคคีของชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนความอดทน ของผู้นำชุมชน ทีมงาน และแม่ค้าของตลาดทุกคน ที่ร่วมพัฒนาพื้นที่ตลาดน้ำอัมพวา แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และจะสานต่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ “ตลาดน้ำอัมพวา” ก่อตั้งขึ้นโดยเทศบาลตำบลอัมพวา ร่วมกับชุมชน โดยการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในอดีต และตลาดน้ำอัมพวาแห่งนี้ยังรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย มีเสน่ห์ของวิถีชีวิตบ้านริมคลอง มีไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ คือเมื่อไปแล้วต้องแวะแชะภาพกับเหล่าตัวละครจากรามเกียรติ์ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยของเด็กนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้มีอาหารทะเลสดๆ รวมทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ ล่องเรือไหว้พระ นั่งเรือชมหิ่งห้อยกับบรรยากาศสองฝั่งคลอง มีธรรมชาติสีเขียวสดชื่นท่ามกลางแมกไม้ สวนส้มโอ สวนลิ้นจี่ และสวนมะพร้าวกะทิ ด้านอาหารมีหลากหลายจานเด็ดที่ต้องยกนิ้วให้ กับเมนูปลาทูซาเตี้ยะ ข้าวน้ำพริกปลาทู ซาลาเปาปลาทู ทะเลเผา ผัดไทยกุ้งสด ข้าวห่อใบบัว ไข่ปลาหมึกทอด ก๋วยเตี๋ยวกะลา และไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวาน นอกจากนี้ยังมีของฝากที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน เช่น อาหารทะเลแปรรูป ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ขนมโสมนัส ขนมจ่ามงกุฎ น้ำตาลมะพร้าวแท้ หัวโขนจิ๋ว เครื่องเบญจรงค์ พวงกุญแจหิ่งห้อย กระเป๋าผ้าขาวม้า และโปสการ์ดภาพสวยๆ ของตลาดน้ำเป็นของฝากติดไม้ติดมือกันอีกด้วย เปิดบริการในวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 16.00 – 22.00 น.
กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ วธ. ได้คัดเลือกตลาดบกและตลาดน้ำส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีตลาดบกและตลาดน้ำที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดบก 10 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดเก่าหัวตะเข้ กรุงเทพมหานคร 2.ตลาดคลองบางหลวง กรุงเทพมหานคร 3.ตลาดจีนชากแง้ว จังหวัดชลบุรี 4.ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ 5.ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน จังหวัดน่าน 6.ตลาดสู้ศึกคึกคัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 7.ตลาดเชียงคาน เมืองสีสัน วัฒนธรรมริมโขง จังหวัดเลย 8.ตลาดริมน้ำคลองแดน (ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน) จังหวัดสงขลา 9.ตลาดตรอกโรงยา (ถนนสั้น ตำนานยาว) จังหวัดอุทัยธานี 10.ตลาดเขมราษฎร์ธานี จังหวัดอุบลราชธานี ด้านตลาดน้ำ 6 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2.ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว จังหวัดเพชรบุรี 3.ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จังหวัดราชบุรี 4.ตลาดน้ำคลองแห จังหวัดสงขลา 5.ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ 6.ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยจะดำเนินการจัดพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2566 นี้ เพื่อยกระดับให้รู้จักในวงกว้าง เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ผ่านตลาดบกและตลาดน้ำ