สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ชวน “เลดี้ปราง” อวดแฟชั่นผ้าไทยที่นำมาตีความใหม่ พร้อมถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าประทับใจท่ามกลางสายตาชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านแลนด์มาร์คดังใจกลางกรุงโตเกียว
อากาศร้อนของโตเกียว…หรือจะสู้ความฮอตของ เลดี้ปราง กางเกงมวยผ้าไทยที่ตัดเย็บโดยช่างในชุมชน จ.สุพรรณบุรี และครูภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมของ sacit ทำจากผ้าฝ้ายของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมเสื้อคลุมดีไซน์อาร์ตๆ ที่ทำจากผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จ.ขอนแก่น นำเศษผ้ามาตัดต่อจนเป็นลวดลายยูนีคสุดๆ ยังมีแฟชั่นผ้าไทยและงานคราฟต์เก๋ๆ พร้อมเครื่องประดับงานเบญจรงค์ที่เท่ไม่เหมือนใครจากแบรนด์ CERAPHON ผลักดัน Soft Power ของไทยให้ประจักษ์ กลางชิบูย่า
แฟชั่นคอนเซ็ปต์ Flow of Life เสื้อคลุมจากเส้นใยธรรมชาติที่ตัดเย็บและออกแบบโดย YANO Handicraft ใช้เทคนิคงานปักเข้ามาเพิ่มดีเทลลวดลายของผืนผ้า และได้แรงบันดาลใจมาจากแง่คิดคำสอนต่างๆ จากหนังสือ “พระมหาชนก” ที่เฉิดฉายในย่านอาซากุสะ ส่วนอีกชุดเป็นเสื้อคลุมที่เทคนิคพิมพ์ลายและงานปักผสมผสานเข้าด้วยกัน กลายเป็นลายปลากัดที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ในลุคสุดแซบ ในย่านเจ้าแห่ง Street Wear อย่างฮารจูกุ
อีกหนึ่งแฟชั่นคอนเซ็ปต์ Lighten-up the Sky ผ้าฝ้ายทอมือที่นำเส้นใยที่เหลือจากการทอผ้านำกลับมาใช้ใหม่ตามหลักการ BCG มาประยุกต์ออกแบบพร้อมตัดเย็บโดยครูอุไร สัจจะไพบูลย์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมของ sacit มี inspiration จากอัตลักษณ์ผ้าอีสานและชนเผ่าทางภาคเหนือของไทย
ประกาศความเป็นไทยให้ก้องโลกด้วยแฟชั่นคอนเซ็ปต์ Culture Blending ชุดผ้าไหมยกดอกลำพูนสีกลีบบัว ที่สวมคู่กับเครื่องประดับผลงาน ครูพิรุณ ศรีเอี่ยมสะอาด ครูช่างศิลปหัตถกรรม ที่เอางานปั้นหุ่นกระบอกมาดีไซน์ลายไทยเป็นตุ้มมาลัยและดอกรัก พร้อมกับถือกระเป๋าย่านลิเภา ซึ่งเป็นแรร์ไอเท็มที่คู่ควร จากฝีมือคุณนภารัตน์ ทองเสภี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมของ sacit ที่สามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นไทยประยุกต์ที่สง่างาม