วันที่ 10 มิถุนายน 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในกิจกรรมแต่งชุดไทยตักบาตรทางน้ำ “นาวาภิกขาจาร” ตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 10 รูป โดยมีนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก 25 จังหวัด ข้าราชการ และประชาชน เข้าร่วม ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้เข้าร่วมงาน ได้ร่วมแต่งผ้าไทยตักบาตรทางน้ำ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ชุดเพลงเรือ จาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ การแสดง “รำมะนาชัยนาท” จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยนาท ณ เวทีกลางน้ำ
ปลัด วธ. กล่าวว่า กิจกรรมตักบาตรทางน้ำ “นาวาภิกขาจาร” จัดขึ้น ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคกลางและภาคตะวันออก “ดนตรี” สานศิลป์ 2 ถิ่นวัฒนธรรม ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง วธ. จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง 25 จังหวัด ในภาคกลางและภาคตะวันออก และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 9 – 13 มิถุนายน 2566 ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อสร้างรายได้ ส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน ให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมของไทย สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มบทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ในการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง รวมถึงเสริมฐานรากวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง ยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติ
นอกจากนี้ กิจกรรมตักบาตรทางน้ำ “นาวาภิกขาจาร” นับเป็นวัฒนธรรมประเพณีตักบาตรทางน้ำอันดีงามของไทย โดยสมัยก่อนบ้านและวัดมักอยู่ติดริมแม่น้ำ พระสงฆ์ออกรับบิณฑบาตทางเรือ เป็นวิถีชีวิตริมน้ำที่เห็นได้บ่อยๆ แต่เนื่องจากยุคสมัยได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัจจุบันจึงหาชมได้ยากขึ้น และมีเส้นทางคมนาคมสะดวกกว่าแต่ก่อน ทางวัดป่าเลไลยก์วรวิหารจึงได้จัดกิจกรรมตักบาตรทางน้ำนาวาภิกขาจาร ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00 น. ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี เป็นกิจกรรมให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ย้อนรำลึกถึงวิถีชีวิตชาวพุทธริมฝั่งแม่น้ำในอดีต ในเส้นทางแม่น้ำที่สำคัญไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีคือแม่น้ำท่าจีน ถือเป็นการส่งเสริมและสืบสานฟื้นฟูวัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางน้ำของคนไทยต่อไป