พร้อมผลักดันให้วัฒนธรรมอยู่ในแผนพัฒนาทุกระดับและทุกมิติ สร้างรายได้ เสริมคุณค่า พัฒนาสังคม
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 4/2566 ผ่านระบบ ZOOM ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยที่ประชุมได้รับทราบการดำเนินการลงพื้นที่ตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รอบที่ 1 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมกำหนดจัดปฏิทินการตรวจราชการสำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการ รอบที่ 2 ในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 เพื่อให้การตรวจ ติดตาม กำกับ ดูแล และเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการในสังกัด วธ. เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายรัฐบาล นโยบาย วธ. และแผนปฏิบัติการ วธ. ปี 2566 – 2570 ที่มุ่งขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ขอความร่วมมือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ให้เตรียมสำรวจศักยภาพตลาดบกและตลาดน้ำของไทย ที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านสถานที่และชุมชน พร้อมร่วมมือร่วมใจพัฒนายกระดับตลาดบกตลาดน้ำ โดยทาง วธ. พร้อมสนับสนุนขยายช่องทางการตลาด ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ให้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
นางยุพา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมรับทราบการเตรียมจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน 2566 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ 20 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” จำนวน 19 จังหวัด เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มุ่งเน้นการเรียนรู้การนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าทางวัฒนธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ การพัฒนาต่อยอดสินค้าทางวัฒนธรรม การยื่นคำขอจดลิขสิทธิ์ การขยายช่องทางการจำหน่ายและสร้างเครือข่ายทางการค้า เป็นต้น จากผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ พร้อมขอความให้สำนักงานวัฒนธรรมทั่วประเทศประสานงานชุมชนและผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 2 คน พร้อมนักวิชาการวัฒนธรรมจังหวัดละ 1 คน รวมเป็นจังหวัดละ 3 คน
นอกจากนี้ ปลัด วธ. ได้เน้นย้ำให้ทุกส่วนภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย วธ. ที่มุ่งปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนให้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ผลักดันให้วัฒนธรรมอยู่ในแผนพัฒนาทุกระดับและทุกมิติ สร้างรายได้ เสริมคุณค่า พัฒนาสังคม พร้อมมอบหมายให้เร่งติดตามการจัดทำแผนในด้านต่างๆ อาทิ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระยะที่ 4 พ.ศ. 2566 – 2570 , (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 , (ร่าง) แผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 , (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนแผนการขับเคลื่อนภารกิจตามที่ได้ทำการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ