23 กันยายน ของทุกปี เป็น วันภาษามือโลก หรือ International Day of Sign Languages มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ตามประกาศจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN เพื่อให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมในการสื่อสารของกลุ่มคนพิการ ตระหนักถึงสิทธิ ความเท่าเทียม และการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผ่านการใช้ภาษามือเป็นสื่อกลางผ่านการสื่อสารของกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน อีกทั้งจากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) เผยให้เห็นว่า มีคนพิการทั่วประเทศที่ได้รับการออกบัตรคนพิการ จำนวน 2,116,751 คน คิดเป็นร้อยละ 3.20 ของประชากร ในจำนวนนั้นเป็นคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 395,120 คน (ร้อยละ 18.67) และคนพิการทางการเห็น 185,760 คน (ร้อยละ 8.78) คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ Thai PBS ในฐานะสื่อสาธารณะผู้ผลิตเนื้อหาคุณภาพส่งตรงถึงคนทุกกลุ่มในสังคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญกับการสื่อสารผ่านภาษามือ ซึ่งพัฒนาร่วมกับล่ามแปลภาษามือจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยจนได้มาตรฐานที่ถูกต้อง ทั้งยังยกขึ้นเป็นพันธกิจหลักในการเปิดพื้นที่สื่อกลางแห่งการเรียนรู้ เพื่อส่งต่อข้อมูล ข่าวสาร สารประโยชน์ พร้อมความบันเทิง ให้กับกลุ่มคนพิการทางการได้ยินอย่างครบครัน ตอบสนองทุกความต้องการในการเสพสื่อของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล กล่าวอีกว่า VIPA เป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์วิดีโอสัญชาติไทย ผลิตโดยคนไทย เพื่อคนไทยนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ขับเคลื่อนโดยไทยพีบีเอส (Thai PBS) สื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเท่าเทียมและทั่วถึงในการเข้าถึงคอนเทนต์คุณภาพให้กับคนไทยทุกคน เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 ยังคงความพิเศษที่ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้อย่างเท่าเทียม ด้วยบริการคำบรรยายแทนเสียง หรือที่เรียกว่า Closed Caption, เสียงบรรยายภาพ หรือที่เรียกว่า Audio Description และยิ่งพิเศษไปกว่านั้นกับการสร้างนวัตกรรมใหม่เจ้าแรกของไทยที่พัฒนา Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอ เพื่อคนหูหนวกให้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ผ่านล่ามภาษามือที่เต็มจอมากขึ้น โดยสามารถเลือกดูคอนเทนต์ไปพร้อมกับคนหูดี สร้างอรรถรสการรับชมได้มากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันบนแพลตฟอร์ม VIPA มีทั้งหมด 12 เนื้อหา , 373 วิดีโอ รวมกว่า 9,380 นาที โดยเป็นเนื้อหาประเภท Drama , Variety และ Lifestyle สำหรับเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือกลุ่มละคร แนวทางการพัฒนาต่อไปเรายังให้ความสำคัญกับความถูกต้อง และพัฒนาการสร้างความรู้สึกร่วมไปกับเนื้อหาหลากหลายประเภทผ่านล่ามภาษามือ รวมทั้งโอกาสการรับชมคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption) ให้รับชมได้พร้อมกัน เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะมีข้อจำกัดใดๆ” ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ระบุ
สำหรับ 10 เนื้อหา Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอ ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 ละคร Super แม้น (EP.1), อันดับ 2 ละคร ความทรงจำใหม่หัวใจเดิม (EP.2), อันดับ 3 เกษตรอีซี่ ตอน ต้นอ่อนข้าวสาลีเพื่อสุขภาพ, อันดับ 4 การ์ตูน เดอะไดอารี่ ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์, อันดับ 5 ละคร ลูกเหล็ก เด็กชอบยก ตอน เด็กสาวโรคจิต, อันดับ 6 สารคดี ชีวิตออกวิ่ง ตอน คนอกหักออกวิ่ง, อันดับ 7 ไม่ตายหรอกเธอ ตอน ช่วยด้วย! ไฟไหม้ BACKDRAFT, อันดับ 8 ซิทคอม แก๊งเก๋าเขย่าครัว ตอน เบ๊ โภชนา, อันดับ 9 การ์ตูน เดอะไดอารี่ ตอน แผ่นดินพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และ อันดับ 10 เกษตรอีซี่ ตอน ปูนาน้ำใส นอกจากนี้ VIPA ยังรวบรวมเนื้อหาสาระที่ตรงใจ ครอบคลุมทุกช่วงวัย ซึ่งเลือกสรรโดยคนพิการทางการได้ยิน มาพร้อมกับภาษามือที่ใหญ่ขึ้น ชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
“ชีวิตออกวิ่ง” รายการที่จะชวนทุกคนเปลี่ยนตัวเองและสร้างสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยการวิ่ง
“ยินดีที่ได้รู้จัก” รายการที่จะพาสำรวจชีวิตผู้คน เพื่อเรียนรู้และอยู่ร่วมกัน
“ปลายจวัก” ละครแห่งปีที่พร้อมเสิร์ฟคุณค่าวิถีไทย ผ่านเรื่องราวของอาหาร
“เกษตร Easy” สนุกไปกับมุมมองอาชีพด้านการเกษตร กับ เป้-อารักษ์
“หนังพาไป” ซีซัน 4-5 ที่พร้อมให้ผู้ชมรับชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการทางการได้ยิน หรือคนหูดี สามารถจับมือชวนกันมาอิ่มเอมกับสาระดี ๆ และเนื้อหาที่หลากหลายจาก VIPA ได้อย่างเท่าเทียมกัน ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.VIPA.me แอปพลิเคชัน VIPA ที่รองรับอุปกรณ์ระบบ iOS และ Android รวมไปถึงช่องทาง Connected TV ทั้งในระบบ Apple TV และ Android TV ซึ่งสามารถติดตั้งแอปพลิเคชัน VIPA ได้ง่าย ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ภายใต้แนวคิด ทุกความสุข ดูฟรีไม่มีโฆษณา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่อีเมล webmaster@vipa.me และ https://support.vipa.me