กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติ การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดยนายประทีป คงสนิท ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption – TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติ การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจัง หวัดภูเก็ต กรณีการบริหารจัดการและการป้องกันการบุกรุกป่าชายเลนในพื้นที่ตำบลวิชิต ซึ่งเป็นบริเวณที่เคยมีการบุกรุกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผลักดันผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ได้แล้วแต่ยังขาดการควบคุมการเข้าถึงพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกบุกรุกเพิ่มขึ้น และ
ในพื้นที่ตำบลรัษฎา เป็นบริเวณป่าชายเลนที่เพิ่งจะมีการจัดที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนเมื่อต้นปี 2565
มีแนวเขตชุมชนติดต่อกับป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมิได้จัดทำหลักเขตหรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตที่ดินที่ชุมชนได้รับอนุญาตให้ชัดเจน เสี่ยงต่อการขยายพื้นที่บุกรุกป่าชายเลนเพิ่มขึ้น
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พื้นที่ป่าชายเลนคลองเกาะผี ตำบลวิชิต ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2505 ส่วนพื้นที่ป่าชายเลนคลองบางชีเหล้า-คลองท่าจีน ตำบลรัษฎา ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2501 ทั้งสองพื้นที่เป็นบริเวณป่าชายเลนทั้งตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าชายเลนตามสภาพ อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับอำเภอเมืองภูเก็ตและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลวิชิตและเทศบาลตำบลรัษฎา
การลงพื้นที่ TaC Team โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) อำเภอเมืองภูเก็ต เทศบาลตำบลวิชิต เทศบาลตำบลรัษฎา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบข้อเท็จจริง ดังนี้
1. พื้นที่ป่าชายเลน บริเวณซอยเมืองทอง 1 ตำบลวิชิต เป็นพื้นที่ป่าชายเลนในเขตเมืองที่ล้อมรอบด้วยแนวเขตที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชน พื้นที่เดิมที่เคยถูกบุกรุกมีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกและคดีถึงที่สุดแล้ว สภาพปัจจุบันกลายเป็นที่รกร้างไม่ปรากฏมีการยึดถือครอบครอง แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเปิดให้ประชาชนใช้เป็นเส้นทางเข้าออกของชุมชนบริเวณใกล้เคียงที่อยู่ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยไม่มีการจัดทำแนวเขตหรือปิดกั้นพื้นที่ป่าชายเลนจากการเข้าถึงของชุมชนให้ชัดเจน มีความเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกซ้ำ และจากการลงพื้นที่ยังพบว่ามีผู้ลักลอบนำขยะจำนวนมากจากชุมชนมาทิ้งในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ส่งผลต่อระบบนิเวศและ
ความสมบูรณ์ของป่าชายเลนบริเวณดังกล่าว
2. พื้นที่ป่าชายเลน บริเวณซอยกำไลทอง 1 ตำบลวิชิต เป็นพื้นที่ป่าชายเลนติดทะเลที่ล้อมรอบด้วยที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชน หน่วยงานป่าไม้มีการกำหนดแนวเขตป่าชายเลนด้วยการขุดคูและทำแนวคันคูระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ล้อมรอบเขตป่าชายเลนเพื่อป้องกันการบุกรุกและใช้เป็นเส้นทางลาดตระเวนตรวจพื้นที่ ต่อมาเทศบาลตำบลวิชิตได้จัดทำโครงการพัฒนาคันคูเป็นถนนลาดยางระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรและออกกำลังกายของประชาชน โดยตลอดแนวถนนลาดยางมีการจัดทำแนวรั้วกำหนดแนวเขตป่าที่ชัดเจน คงเหลือพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกบุกรุกตามแนวคันคูที่เหลือ ซึ่งติดต่อกับแนวเขตที่ดินของประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ์ ปรากฏมีพื้นที่ป่าชายเลนบางส่วนที่เคยถูกบุกรุกโดยการนำดินจากที่อื่นมาถมจนไม่สามารถฟื้นฟูเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ได้ รวมทั้งมีการทำกินในลักษณะประมงพื้นบ้านและการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของราษฎรที่อยู่อาศัยเดิมจำนวนหนึ่งในเขตป่าชายเลนที่กับทะเล
3. พื้นที่ป่าชายเลน บริเวณชุมชนโหนทรายทอง ตำบลรัษฎา เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีการบุกรุกของประชาชนมาเป็นเวลานาน พื้นที่ดังกล่าวได้นำเข้าโครงการจัดที่ดินทำกินและได้รับการอนุญาตจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้จังหวัดภูเก็ตนำพื้นที่ป่าชายเลน จำนวน 64 ไร่ ไปจัดที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรตามนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 สภาพพื้นที่เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นด้านหนึ่งติดต่อกับแนวเขตป่าชายเลนพื้นที่ 200 ไร่ ซึ่งศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต ได้จัดทำหลักเขตระบุพิกัดป่าชายเลนไว้แล้ว คงเหลือการดำเนินการของอำเภอเมืองภูเก็ตและเทศบาลตำบลรัษฎาที่ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตฯ ในการจัดทำหลักเขตหรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตทุกด้านให้มีความชัดเจนเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พบว่ามีพื้นที่ชุมชนบางส่วนที่ติดต่อกับแนวเขตป่าชายเลนมีการจัดสรรให้แก่ราษฎรแต่ปล่อยทิ้งเป็นพื้นที่ว่างไม่มีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขการจัดที่ดินทำกินและเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการบุกรุกป่าชายเลนในบริเวณใกล้เคียง
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติ การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตนายประทีป คงสนิท ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดภูเก็ต นายวุฒิพงศ์ ภริงคาร ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต นายไพรัช ลิ้มประเสริฐ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายสัญญา สังวังเลาว์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) พันโท เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน ๔ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พันตำรวจโท สุพจน์ คงนาลึก ผู้อำนวยการกลุ่มงานปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 8 เรือเอกเชิดชาย สุวะรักษ์ ผู้แทนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ผู้แทนสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต เทศบาลตำบลวิชิต และเทศบาลตำบลรัษฎา โดยที่ประชุมจึงกำหนดข้อตกลงร่วมที่หน่วยงานจะรับไปดำเนินการ ดังนี้
1. พื้นที่ป่าชายเลน ตำบลวิชิต ซอยเมืองทอง 1 ให้เทศบาลตำบลวิชิตดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนให้ปลอดจากขยะ โดยเบื้องต้นให้ใช้วิธีจัดทำป้ายประกาศและทำความเข้าใจขอความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านความสงบเรียบร้อยและสาธารณสุข ทั้งนี้ ให้แจ้งศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ตทราบเพื่อร่วมดำเนินการ ทั้งในกรณีการนำเครื่องจักรเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมทั้งกรณีมีความจำเป็นต้องดำเนินการทางอาญาในการจับกุมผู้กระทำความผิดในพื้นที่ป่าชายเลน
ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ในระยะยาว ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ตเสนอจะดำเนินการร่วมกับเทศบาลตำบลวิชิต โดยเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าในเมือง “ศูนย์เรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลน” เพื่อป้องกันการบุกรุกและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งนี้ ได้เสนอโครงการต่ออำเภอเมืองภูเก็ตแล้วโดยอำเภอได้เพิ่มเติมให้ทั้งสองหน่วยงานจัดเวทีชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ กำหนดจะดำเนินการในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 จากนั้นจึงจะเสนอโครงการเพื่อให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาอนุญาตต่อไป
2. พื้นที่ป่าชายเลน ตำบลวิชิต ซอยกำไลทอง 1 ให้ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ตกำกับดูแลการทำประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลให้อยู่ในพื้นที่เดิมและไม่บุกรุกเพิ่มเติม ส่วนพื้นที่ป่าชายเลนที่เคยถูกบุกรุกและยังไม่สามารถฟื้นฟูสภาพป่าที่สมบูรณ์ได้ ให้พิจารณาร่วมมือกับหน่วยงานพัฒนาชุมชนเพื่อจัดโครงการปลูกป่าและนำพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มาปลูกเพิ่มเติม โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันดูแลรักษาสภาพป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์
ส่วนแนวทางป้องกันการบุกรุกป่าชายเลนตลอดแนวคันคูที่ยังพัฒนาไม่แล้วเสร็จ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เคยอนุมัติโครงการพัฒนาแนวคันคูตลอดระยะทาง 7 กิโลเมตรไว้แล้ว และเทศบาลตำบลวิชิตได้ประสานให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตพิจารณาจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการในส่วนที่เหลือระยะทาง 6 กิโลเมตร ซึ่งได้มีการสำรวจพื้นที่โครงการไปแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ระหว่างรอโครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ตมีแนวทางดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนโดยจัดหน่วยลาดตระเวนตรวจพื้นที่ โดยการเดินเท้าเดือนละ 1-2 ครั้ง
3. พื้นที่ป่าชายเลน ชุมชนโหนทรายทอง ตำบลรัษฎา ให้อำเภอเมืองภูเก็ตและเทศบาลตำบลรัษฎา ร่วมกันดำเนินการทันทีเพื่อจัดทำแนวเขตชุมชนที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ป่าชายเลนให้ชัดเจนตามเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาต โดยประสานกับศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ตสำรวจแนวเขตพื้นที่และจัดทำหลักเขตหรือสัญลักษณ์แสดงแนวเขต โดยให้ยึดตามหลักแนวเขตป่าชายเลนที่ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ตจัดทำไว้แล้ว
สำหรับการบริหารจัดการภายในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการจัดที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล ให้อำเภอเมืองภูเก็ต เทศบาลตำบลรัษฎา ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์ของผู้ได้รับอนุญาตจำนวน 255 ครัวเรือน ให้ชัดเจน หากพบกรณีที่ไม่มีการอยู่อาศัยจริงหรือมีการทำประโยชน์ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตให้พิจารณาดำเนินการให้ถูกต้อง โดยประสานข้อมูลให้ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ทราบด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงร่วมภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ฯ ในพื้นที่ภาค 8 (จังหวัดภูเก็ต) เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะนำกรณีการบริหารจัดการประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ไปศึกษาเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ เพื่อพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริตที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด