NIA ผนึกอาเซียนและพันธมิตร จัดประชุม SEASA 2022 เปิดเมืองเชื่อมโลก สร้างเครือข่ายให้สตาร์ทอัพได้ไปต่อหลังโควิด-19

  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุม Southeast Asia Startup Assembly 2022…

Home / PR NEWS / NIA ผนึกอาเซียนและพันธมิตร จัดประชุม SEASA 2022 เปิดเมืองเชื่อมโลก สร้างเครือข่ายให้สตาร์ทอัพได้ไปต่อหลังโควิด-19

  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุม Southeast Asia Startup Assembly 2022 หรือ SEASA 2022 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างสตาร์ทอัพ หน่วยงานภาครัฐ และนักลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) และประเทศพันธมิตร ภายใต้ธีม “บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมสตาร์ทอัพยุคหลังโควิด-19” โดยปีนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐด้านการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพจากประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรเข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม จีน อินเดีย และไทย ซึ่งได้นำเสนอบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมสตาร์ทอัพยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ด้านนโยบาย การส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ และสถานการณ์ของสตาร์ทอัพในปัจจุบัน 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจไปทั่วโลก แต่ในวิกฤตนั้นทำให้มองเห็นความท้าทายที่จะสร้างให้เกิดโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทย ซึ่งนวัตกรรมการคาดการณ์อนาคต และการปรับตัว เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทต่างๆ ก้าวข้ามความท้าทายและเติบโตต่อไปได้ในยุคหลังโควิด-19 รวมถึงการรับมือกับการปฏิรูปอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่ระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รัฐบาลจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึก และสินทรัพย์ที่มีคุณค่าอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เทคโนโลยี วัตถุดิบขั้นสูง และการผลิต” 

  “เราควรใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งโดยรวมของระบบนิเวศ ดังนั้น งาน SEASA จึงเป็นการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบาย สถานการณ์ปัจจุบัน และความท้าทายที่ทุกคนกำลังเผชิญ โดยความร่วมมือระดับนานาชาตินี้จะช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพให้สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาเลวร้ายไปสู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน” 

  ภายในงานผู้แทนของแต่ละประเทศได้นำเสนอ “บทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริมสตาร์ทอัพในยุคหลังโควิด-19” โดยเน้นประเด็นด้านนโยบาย การส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ และสถานการณ์ของสตาร์ทอัพในปัจจุบัน เพื่อรักษาความร่วมมือที่แข็งแกร่งของระบบนิเวศสตาร์ทอัพอาเซียน และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและนวัตกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนและประเทศพันธมิตร ซึ่งเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีนโยบายที่คล้ายคลึงกันเพื่อรองรับการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  – การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเร่งให้ผู้คนปรับพฤติกรรมและยอมรับสังคมไร้เงินสด โดยตอนนี้ 90% ของประชากรในบรูไนมีความคุ้นชินและเปิดรับกับรหัส QR อย่างสมบูรณ์ เช่น e-wallets และการทำธุรกรรมเงินสด อีกทั้งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบรูไนมีการเปิดแผนงานนวัตกรรมบรูไน เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการสร้างขีดความสามารถให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ส่วนประเทศอินเดียมีโมเดล India Stack เพื่อรองรับการขยายตลาดผ่าน eKYC และการเตรียมความพร้อมของลูกค้า ทำให้ประชากรสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังได้พัฒนาและเปิดตัว UPI เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการชำระเงินดิจิทัล ในขณะที่ประเทศไทยพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึง เพื่อสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีทั้งของไทยและต่างประเทศ ภายใต้โครงการ Thailand 4.0 และรัฐบาลมาเลเซียกำลังทำงานบน 3 เสาหลักเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ ความสามารถด้านดิจิทัล ธุรกิจดิจิทัล และการลงทุนดิจิทัล

  – ระบบนิเวศนวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น NIA จึงได้สร้าง Global Startup Hub ขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีสำนักงานในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่มาเลเซียได้สร้างคอมมูนิตี้สตาร์ทอัพและสนับสนุนด้านช่องทางการตลาด โดยรัฐบาลได้เปิดตัว Malaysia Digital Hub Initiatives ที่มีสตาร์ทอัพกว่า 400 รายมาเข้าร่วม เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ ส่วนรัฐบาลเวียดนามกำลังพัฒนานโยบายแซนด์บอกซ์ เพื่อให้ทุนแก่สตาร์ทอัพโดยตรง มีการเร่งสร้างสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ จัดตั้งระเบียงนวัตกรรม และเสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (IP) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและสตาร์ทอัพนำเทคโนโลยีและการวิจัยมาสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น

  – ในแง่ของการลงทุนจากต่างประเทศ การระบาดใหญ่ทำให้สายการบินส่วนใหญ่ต้องหยุดดำเนินการ ยากแก่การดึงดูดสตาร์ทอัพจากต่างประเทศให้ขยายหรือจัดตั้งในต่างประเทศ ดังนั้น จีนจึงได้จัดตั้งศูนย์ Chinese Academy of Sciences (CAS) ขึ้นในต่างประเทศ รวมทั้งในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและนักลงทุนในท้องถิ่นเพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพชาวจีนเข้ามาในประเทศไทยโดยเน้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียได้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติด้วยวีซ่า 1-5 ปีสำหรับสตาร์ทอัพต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในมาเลเซีย”

  นอกจากการแลกเปลี่ยนของผู้แทนแต่ละประเทศแล้ว ในงานก็ยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากสตาร์ทอัพที่ช่วยเปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนไทยให้สมาร์ทขึ้น ได้แก่ “Seekster” แพลตฟอร์มรวมแม่บ้าน-สารพัดช่าง “Nasket” แพลตฟอร์มสินค้าและบริการสำหรับคนเมือง “NoBitter” แพลตฟอร์มสั่งผักสลัดคุณภาพจากฟาร์มถึงหน้าบ้าน และ “Happy Grocers” แพลตฟอร์มขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งตรงจากเกษตรกร” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี

————————————————– 

Southeast Asia Startup Assembly หรือ SEASA คือการประชุมหน่วยงานภาครัฐจากประเทศสมาชิกอาเซียน และพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรทางเศรษฐกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งมิติการจัดทำฐานข้อมูล การบ่มเพาะ การขยายตลาด และการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้มีความเชื่อมโยงและเข้มแข็งมากขึ้น รองรับการขยายตัวของตลาดโลก