กรณี ปัญหาร้องเรียนก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนโผงเผง ระยะที่ 4 อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
วันที่ 20 สิงหาคม 2565 ได้มีการโพสภาพข่าวพร้อมกับหัวข้อข่าว จากเพจ เนชั่นออนไลน์ โดยมีเนื้อความว่า “ชาวบ้านสุดงง! เขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำสอดไส้ไม้อัด ฝากถามผู้เกี่ยวข้องป้องกันน้ำได้จริงหรือ วอนหน่วยงานรัฐตรวจสอบด่วน” โดย ชาวบ้านในหมู่ที่ 4 ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ร้องเรียนกรณีเขื่อนเรียงหินริมคลองโผงเผงที่เพิ่งสร้างเสร็จ แต่ชาวบ้านสังเกตเห็นว่าผนังเขื่อนเรียงหินขนาดใหญ่ที่อยู่ในโครงการก่อสร้าง บริเวณรอยต่อของผนังคอนกรีต แต่ละช่วง ถูกผู้รับเหมานำซิลิโคนสีเทายิงทับรอยต่อไว้ทั่งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในสอดไส้วัสดุคล้ายไม้อัดแผ่นยาวตั้งแต่ด้านบนจนถึงด้านล่างไว้แทนที่จะเป็นคอนกรีต และซิลิโคลนที่ปิดทับไว้เมื่อโดนความร้อนก็ละลายจนลอกออก ทำให้ชาวบ้านกังวลผนังเขื่อนคอนกรีตนี้จะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้
ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอ่างทองได้เข้าไปสอบถามข้อเท็จจริงและลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอ่างทอง พร้อมกับรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโผงเผง โดยทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอ่างทองให้ข้อมูลโครงการเบื้องต้นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนโผงเผง ระยะที่ 4 อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2565 งบประมาณก่อสร้าง 278,968,500 บาท(สองร้อยเจ็ดสิบแปดล้านเก้าแสนหกหมื่นแปดพันห้าร้อยบาทถ้วน) ผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ บริษัท อสิตากิจ จำกัด และผู้ควบคุมงาน คือ บริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ปัจจุบันมีการก่อสร้างไปแล้ว 99.45% และกรณีเรื่องไม้อัดและซิลิโคลนบริเวณรอยต่อที่ปรากฏในข่าวดังกล่าวติดตั้งแผ่นยางกันนำไหลซึมผ่าน (PVC Waterstop) ชนิด 3 ปุ่มตลอดแนวผนังคอนกรีตเสริมเหล็กและพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กรัดหัวเสาเข็ม เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมบริเวณรอยต่อเผื่อการขยายตัว ทำให้น้ำภายนอกไม่สามารถไหลซึมเข้ามาได้และวัสดุที่ใช้อุดรอยต่อดังกล่าวประกอบด้วย กระดาษชานอ้อย ซึ่งผลิตมาจากเนื้อเยื่อของชานอ้อย โดยผ่านการอัดด้วยความดันสูง และชุบน้ำมัน มีคุณสมบัติด้านการทนทานต่อความชื้น หรือสารเคมี มีความยืดหยุ่น และอุดร้อยต่อด้วยน้ำยาโพลีซัลไฟด์ (Polysulfied) ซึ่งมีคุณสมบัติอุดร่องกันแตก รอยต่อโครงสร้าง อุดกันรั่วซึมสามารถทนทานต่อการยืดหดตัวได้สูง ซึ่งไม่ใช่วัสดุสอดไส้คล้ายแผ่นไม้อัดและซิลิโคลนอย่างที่เป็นข่าว
อีกทั้งเหตุที่ต้องมีการเว้นต่อของคอนกรีตไว้สาเหตุเพราะรองรับการขยายตัวของคอนกรีต (Expansion Joint) และในส่วนของทางเท้าที่ปูด้วยตัวหนอนคอนกรีตที่เกิดทรุดตัวจนพังลายจุดนั้น ทางผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบก่อสร้าง แต่เนื่องจากด้วยบริเวณชั้นดินดังกล่าวเกิดการเคลื่อนตัวของสภาพชั้นดิน ทำให้งานปูพื้นทางเท้าด้วยบล็อกประสานคอนกรีตที่แล้วเสร็จเกิดการทรุดตัวหลายจุดซึ่งงานบริเวณดังกล่าวนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ยังไม่มีการส่งมอบงาน ทางสำนักงานงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอ่างทองได้รับทราบประเด็นปัญหาดังกล่าวแล้วและได้ประสานไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะที่เป็นคู่สัญญาแจ้งให้ผู้รับเหมาะเพื่อมาดำเนินการซ่อมแซมในจุดที่ชำรุดให้เรียบร้อยก่อนทำการส่งมอบงาน
ทั้งนี้ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอ่างทองจะดำเนินการติดตามผลการแก้ไขและซ่อมแซมต่อไป