สสว. จับมือพันธมิตรค้าปลีกรายใหญ่ ทั้งกลุ่มซีพี กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ PTTOR ฯลฯ เดินหน้าเพิ่มช่องทางขายสินค้า “SME ชัวร์” ทั่วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้สินค้า SME เชื่อว่าจะช่วยพลิกฟื้นธุรกิจ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และขยายโอกาสทางการตลาดให้สินค้า SME และปลายปี 2565 นี้ เตรียมเสนอมาตรการ “ช็อป SME มีคืน” กระตุ้นการขายให้ SME ต่อเนื่อง
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 นโยบายสำคัญที่ สสว. เร่งดำเนินการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ คือ การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการขยายโอกาสทางการตลาด เพื่อช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของผู้ประกอบการให้เดินหน้าต่อได้ รวมถึงสร้างเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และสนับสนุนการพัฒนาสินค้าเอสเอ็มอี ให้ได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับจากกลุ่มผู้บริโภค โดย สสว. เตรียมเดินหน้าโครงการ “SME ชัวร์” ซึ่งร่วมมือกับพันธมิตรค้าปลีกรายใหญ่ ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ
สำหรับโครงการ SME ชัวร์ สสว. ร่วมกับผู้ประกอบการค้าปลีก อาทิ กลุ่มซีพี เซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร เทสโก้โลตัส กลุ่มเซ็นทรัล ท็อปส์ B2S กลุ่มเดอะมอลล์ สยามพารากอน กลุ่มทีซีซีกรุ๊ป บิ๊กซี สถานีบริการน้ำมันและร้านกาแฟ Café Amazon ของบริษัท PTTOR จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ด้วยการติดตราสัญลักษณ์ “SME ชัวร์” ที่ชั้นวางจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองความเป็นเอสเอ็มอี จาก สสว. ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ๆ รวมถึงผู้ที่วางขายสินค้าในห้างค้าปลีกอยู่แล้ว เพื่อจูงใจและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ทันทีว่าได้อุดหนุนสินค้าของเอสเอ็มอีไทย
“เป้าหมายของโครงการ นอกจากเป็นการสร้างความมั่นใจในการซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีแล้ว เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ ในธุรกิจค้าปลีกให้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการขายและมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในห้างค้าปลีกอยู่แล้ว เมื่อได้รับการรับรองความเป็น SME จาก สสว. ก็จะได้โอกาสในตลาดใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ จัดให้ เช่น กลุ่มตลาด CLMV ตลาดประเทศจีน ฯลฯ ขณะเดียวกันจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนซัพพลายเออร์ที่เป็น เอสเอ็มอีของห้างค้าปลีกให้เพิ่มมากขึ้น คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีพลิกฟื้นธุรกิจ และสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะได้รับการรับรองความเป็น SME จาก สสว. ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ หากเป็นกิจการในภาคการผลิตต้องมีรายได้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี หากเป็นกิจการในภาคการค้าและบริการ ต้องมีรายได้รวมไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองความเป็น SME เรียบร้อยแล้ว ยังมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ สสว. ได้เชื่อมโยงไว้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลาดออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าจากโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ของ สสว. และรับสิทธิในการเข้ารับการอบรม พัฒนาและยกระดับศักยภาพจากผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าของเอสเอ็มอีอีกด้วย