MERMAN Sea You Strong

“ทราย สก๊อต” หนุ่มนักอนุรักษ์สวมบท “เงือก” ตีแผ่ปัญหาใต้ทะเลผ่านหนังสั้น “MERMAN”

นักอนุรักษ์หนุ่มไฟแรง ทราย สก๊อต ประธานโครงการ Sea You Strong เลือกนำเสนอหนังสั้น MERMAN

Home / PR NEWS / “ทราย สก๊อต” หนุ่มนักอนุรักษ์สวมบท “เงือก” ตีแผ่ปัญหาใต้ทะเลผ่านหนังสั้น “MERMAN”

​นักอนุรักษ์หนุ่มไฟแรง “ทราย สก๊อต” ประธานโครงการ “Sea You Strong” ผู้ที่รักทะเลเป็นชีวิตจิตใจ เรียกได้ว่าทุกลมหายใจเข้าออกคือการดูแลและปกป้องทะเลที่เขารัก โดย “ทราย” ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาหลังจากที่เจ้าตัวกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งทรายได้พูดถึงที่มาของโครงการนี้ให้ฟังว่า

​“ทรายเริ่มโครงการ Sea You Strong ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ทรายกลับมาจากอเมริกาก่อนโควิด และมันเริ่มจากการที่ทรายชอบช่วยสังคม ชอบช่วยทะเล ทรายเริ่มจากการที่ทรายได้ไปทะเลชวนคนในพื้นที่ไปเก็บขยะ ซึ่งเราไม่ได้เก็บกันเล่นๆ แต่เราตั้งเป้าว่าจะเก็บกี่กิโลเมตร จะเริ่มตั้งแต่ตรงไหน บริหารคนให้ทำงานกันเป็นทีม ทรายก็เริ่มต้นแบบนั้นครับ เริ่มด้วยหาดเล็กๆ แค่ 1 กิโลเมตรก่อน เริ่มที่ประจวบฯ หลังจากนั้นทรายก็ไปเที่ยวต่อที่กระบี่เห็นหาดสวยๆ แล้วทรายให้คนที่นั่นพาไปดูหาดของชุมชนจริงๆ เพราะว่าทรายรู้ว่าหาดสวยๆ มีคนดูแลอยู่แล้ว แต่หาดที่ชุมชนอยู่จริงๆ ที่เขาทำมาหากินกับทะเล กินอาหารทะเลมันต้องอยู่ที่อื่น เขาก็พาไปหาด หาดหนึ่งของกระบี่ ซึ่งตอนนั้นมันเป็นหาดที่ไม่มีการบริหารจัดการขยะที่จริงจัง มันก็มีกระแสน้ำพัดขยะเข้ามาด้วย มันก็ทำลายธุรกิจการท่องเที่ยวของตรงนั้น ทำลายวิถีทำมาหากินด้วย ซึ่งมันหลายปัจจัย ตอนนั้นทรายเลยตัดสินใจเขียนหนังสือแล้วส่งให้โรงเรียนแถวนั้น ทรายลงพื้นที่เอง หาโรงเรียนเองไปคุยกับ ผอ. ของทุกโรงเรียน พยายามดึงให้เขามาทำงานกับทราย ทรายบอกเขาว่าทรายจะอยู่ข้างเขาไม่ทิ้งกันไปไหน เขาถึงยอมมา งานแรกที่ทรายทำที่กระบี่ มีคนเข้าร่วมประมาณ 100 คน แล้วผ่านมาอีกอาทิตย์ก็มีสมาชิกเพิ่มอีกประมาณ 200-300 คน ซึ่งคนมาเพิ่มเยอะมาก ทรายไม่ทราบมาก่อนว่ามีคนสนใจเรื่องขยะเยอะมาก แต่มันคือผลที่ดีทรายเรียนรู้ว่าถ้าเราเห็นปัญหาแล้วเราชี้แจงมันก็ทำให้ทุกคนรู้ว่าปัญหาคืออะไร”

แรงบันดาลใจในการทำโครงการนี้?
​“ทรายรักทะเลมากกว่าทุกอย่าง มันคือที่ ที่ทรายอยากอยู่ทุกวัน ทุกเวลา เราซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ทรายเป็นคนที่ชอบยืนดูพระอาทิตย์ตก นอนบนหาดแล้วก็ชอบอยู่ในน้ำทะเลเพราะมันมีชีวิต ได้ยินเสียงปูเสียงปลามันเป็นอะไรที่แบบทำให้เราเข้าใจว่าเรามีบทบาทอะไรในโลกนี้คือเราแค่ตัวเล็กๆ บนโลกใบนี้ แต่ทะเลมันมหาศาล มันมีพลังมากกว่าเราตั้งเยอะ แล้วพอทรายมาเห็นว่ามีขยะลอยมา ทรายรับไม่ได้เพราะทรายรู้ว่ามันยิ่งใหญ่กับทราย ทรายก็เลยต้องปกป้องทะเล เราไม่มีเวลาเยอะในการแก้ปัญหาแบบนี้ ทรายอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับปัญหาใต้ทะเล ก็เลยอยากนำเสนอผ่านหนังสั้น เรื่อง “MERMAN” ทรายอยากสร้างผลงานที่สามารถดึงใจคนได้เพื่อใช้โอกาสนี้ให้หนังเป็นกระบอกเสียงสำหรับสิทธิของสัตว์ทะเลจากภัยคุกคามส่วนหนึ่ง”

ทำไมถึงเลือก “MERMAN” มานำเสนอในหนังสั้น?
​“คือปีที่แล้ว ทรายทำงานทางน้ำเยอะ แล้วทรายได้เจอภาพหลายๆ ภาพที่ทรายไม่ชอบเกี่ยวกับสิ่งที่ทรายรัก ทั้งการคุกคาม เอาเปรียบปลา เอาไซไปวางทับแนวปะการัง ทรายเห็นปลาติดอวนตายใต้น้ำ มันเป็นอะไรที่ทรายเกลียดมากๆ ทรายรู้สึกเหมือนทรายออกมาชี้แจงให้ข่าวไม่ได้ แต่ทรายรู้ว่าคนไทยชอบอะไรที่สวยงาม ถ้าเกิดทรายเอาตัวเงือกที่เป็นสัญลักษณ์ของความวิเศษ ความมหัศจรรย์ของทะเลมานำเสนอ นอกจากนี้รูปลักษณ์ของเงือก คือครึ่งหนึ่งเป็นคน ครึ่งหนึ่งเป็นปลา เป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ควบคู่ของทะเลกับมนุษย์ ทรายอยากเอาตัวละครที่สง่างามแบบนั้นมาจับทรมาน คนจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่เราทำกับสิ่งที่สวยงาม กับสิ่งที่มีค่า เวลาเราไปทะเลแล้วถ่ายว่าฉันเป็นนางเงือกเล่นกัน แต่ความจริงของสิ่งที่เราทำมันเป็นอีกแบบหนึ่ง คือมันไม่ใช่เรื่องที่น่ารัก มันมีปลาที่กำลังตายเยอะมาก เพราะว่าคนไม่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรของเรา ทั้งการคุกคาม ขยะประมงที่ติดตามแนวปะการัง การเอาเปรียบปลา ผมเห็นคนเอาไซไปวางทับแนวปะการัง เห็นคนเอาปลาสวยๆ ที่อาศัยตามแนวปะการังไปขาย ซากของปลาที่ติดซากอวนตามแนวปะการังที่จมน้ำตาย แล้วสภาพเขาเน่า ผมเห็นแล้วตกใจที่เห็นปลาพวกนี้ต้องมาตายในบ้านของเขาเพราะเศษอวนกับขยะต่างๆ ที่เราไม่คิดที่จะจัดการ เราไม่ให้ความเคารพศักดิ์ศรีต่อสัตว์อื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพโลกเราเลย”

ภาพที่เห็นในหนัง ถ่ายที่ไหนบ้าง?
​“ที่กระบี่ พีพี แล้วก็ภูเก็ต ใช้เวลา ถ่าย 2 เดือน หนังเรื่องนี้ทรายออกเงินเองหมดเลย ซึ่ง 2 เดือน อยู่ทะเลตลอด เพราะว่าเราต้องถ่ายน้ำลึก เราลงไป 20 เมตร ใต้น้ำ ทรายต้องถอดอุปกรณ์ออกเวลาถ่าย เราต้องอยู่ใต้น้ำเป็นชั่วโมงทุกครั้ง เพราะเราจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้ โดยหนังเรื่องนี้ได้ผู้กำกับฝีมือเยี่ยม คือ ต้าร์-ณภัทร เวชศาสตร์ มากำกับให้ ตอนถ่ายมีผู้ช่วยกำกับ 1 คน ทีมเซฟตี้ 4 คน มีคอสตูม 2 คน ทุกคนในทีมหนังเรื่องนี้เป็นนักอนุรักษ์หมดเลยครับ”

วัตถุประสงค์ของหนังเรื่องนี้?
​“ทรายอยากให้ทุกคนเอาใจใส่กับสัตว์ทะเลได้รับรู้ถึงความสุขและความเจ็บปวดของสัตว์ทะล อยากให้ เห็นว่าเขาเป็นมากกว่าสิ่งที่สวยงาม อยากให้เราให้ความสำคัญต่อชีวิตสัตว์ทะเลและทรัพยากรใต้ทะเลของเรา ทรายไม่ได้บอกว่าคุณห้ามกินปลาแต่วิธีการดำเนินชีวิตของบางคนยังมักง่าย มันทำให้ระบบนิเวศเสีย อย่างเช่น ขยะทะเลที่มาจากความมักง่าย ใช้อุปกรณ์ที่ผิดแล้วกำจัดด้วยการทิ้งลงทะเล เหมือนแบบ out of sight out of mind แต่เราลืมปัจจัยที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ ชีวิตที่อยู่ใต้ทะเล ทั้งปลา สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เต่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพืชต่างๆ ชีวิตของเขาสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดแบบเรา ทะเลคือบ้านของเขาไม่ใช่ตู้เย็นของเรา ในยุคมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการและพัฒนาหลายๆ ด้าน เราไม่คำนึงถึงสิทธิของสัตว์ทะเลเราคิดว่ามันคือสัตว์ที่มีสิทธิน้อยกว่าเรา เราเหนือกว่าเขา เราลืมใช้จิตสำนึกในการคำนึงถึงการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน เราเคยถามไหมว่าขวดพลาสติกที่เราใช้กับกล่องโฟมมันจะกระทบสัตว์ทะเลยังไง ซึ่งแนวคิดของมนุษย์ทำให้สร้างความเสื่อมในระบบนิเวศ ชีวิตใต้ทะเล ได้รับผลเสียอย่างมหาศาล เพราะทรัพยากรมันมีจำกัด การขาดความเข้าใจตรงนี้ สร้างปัญหาให้คนในสังคมด้วยการเลือกที่จะทำอะไรโดยไม่นึกถึงผลเสียต่อคนในชนชั้นอื่นๆ กับธุรกิจและทรัพยากรของเขา หรือดำเนินการด้วยการเอาเปรียบแล้วไม่ห่วงใยคนและธรรมชาติ ทรายคิดว่ามันมีหลายเรื่องมาก คือส่วนตัวทรายคิดว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย ทรายอยากเป็นกระบอกเสียงสำหรับสิทธิของสัตว์ทะเลจากภัยคุกคามต่างๆ อีกอย่างทรายคิดว่ามันเป็นประเด็นทางสังคมที่จะทำให้คนกลับมาพูดถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ทรายอยากแก้ไขปัญหานี้ เพราะมันคือบ้านของทราย ถ้าทรายสามารถช่วยตรงนี้ได้ทรายก็อยากทำครับ” ทราย กล่าว

ประวัติ
ชื่อ-นามสกุล ​​: “ทราย สก๊อต” เป็นหลานชายของ “คุณจำนงค์ ภิรมย์ภักดี” (คุณตา)
จบการศึกษา ​​: มหาวิทยาลัย CALARTS ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ​: ฝ่ายการพัฒนาทรัพยากรอย่างยั่งยืน บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)

ติดตามชมหนังสั้น “MERMAN” ได้ที่ Youtube : Psi Scott – ทรายทะเล / Facebook : Psi Scott – ทรายทะเล วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565