สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Industry Association : TAIA) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชน (TAIA Meets the Press) ในหัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” มองแนวโน้มตลาดรถสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลาย มั่นใจนโยบายภาครัฐต่าง ๆ พร้อมสนับสนุนการพลิกฟื้นภาคเศรษฐกิจทั้งระบบ รวมถึงมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มากยิ่งขึ้น
นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เผยว่า “ในปี พ.ศ. 2565 คาดการณ์การผลิตรถยนต์ของไทยโดยรวมที่ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มียอดผลิต 1.68 ล้านคัน โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และได้คาดการณ์ยอดจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทในปีนี้จะอยู่ที่ 8.5 แสนคัน เพิ่มขึ้น 90,000 คันจากยอดจำหน่ายปีที่แล้ว หรือประมาณ 12% ส่วนตัวเลขรถจักรยานยนต์ คาดการณ์ยอดผลิตที่ 2,000,000 คัน และยอดจำหน่ายปีนี้ 1,650,000 คัน เพิ่มขึ้น 3%”
“ด้วยปัจจัยบวกสนับสนุนในหลายส่วน ได้แก่ การที่รัฐบาลเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากมีผู้ได้รับวัคซีนมากกว่า 80% ของประชากรทั้งประเทศและมีการปรับวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้ดีขึ้น นโยบายเปิดประเทศโดยการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ การเพิ่มพื้นที่สีฟ้าเพื่อนำร่องการท่องเที่ยว การเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ เช่น มาตรการ Test & Go ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนการเดินทางที่จะเริ่มในวันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง”
“โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยตลอดปี พ.ศ. 2565 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 4% โดยมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออก 4.9% การอุปโภคบริโภค 4.5% การลงทุนภาคเอกชน 3.8% และการลงทุนภาครัฐ 4.6% รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ ในการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ และผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา”
ส่วนด้านปัจจัยลบ ทางสมาคมฯ มองว่า มี 2 สาเหตุหลัก กล่าวคือ
- ปัจจัยลบนอกประเทศ เช่น ปัญหาการขาดแคลนและการถูกปรับราคาขึ้นของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปัญหา Logistic & Supply chain disruption จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ปัญหาความรุนแรงระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
- ปัจจัยลบภายในประเทศ ได้แก่ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังการซื้อของประชาชนที่ลดลง
สำหรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่กำลังเป็นเทรนด์ของทั่วโลก เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ได้เข้ามาตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ หันมาส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในจีนและสหรัฐอเมริกา ล่าสุดรัฐบาลไทยได้ผ่านร่างมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กำหนดนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub)
นายสุวัชร์กล่าวเสริมว่า “มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐที่เพิ่งประกาศล่าสุด เช่น การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์และภาษีของยานยนต์ไฟฟ้าเป็นการกระตุ้นตลาด เพื่อให้รถไฟฟ้ามีราคาที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภค โดยในปีนี้คาดการณ์ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด สำหรับประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า คาดว่าน่าจะทะลุ 10,000 คัน”
ส่วนเรื่องการสร้างไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกับรถกระบะ และรถอีโค่คาร์นั้น สมาคมฯ มองว่าไทยมีศักยภาพที่เหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ในด้านบุคลากรทักษะสูง ประสบการณ์ ความชำนาญในการประกอบและผลิตรถยนต์ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากลมาอย่างยาวนาน รวมทั้งยังมีเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Supply Chain) ที่แข็งแกร่ง และยังมีนโยบายรัฐเพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
“แต่ในขณะเดียวกันเรายังต้องการตลาดขนาดใหญ่ขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้การผลิตมี Economy of Scales รวมถึงเราต้องมีการประเมินศักยภาพของประเทศรอบข้าง และมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายได้”