อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ร่วมกับสถานทูตเยอรมัน เปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ฉลองความสัมพันธ์ 160 ปี ไทย-เยอรมนี

พิธีเปิดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี เพื่อรำลึกวาระความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

Home / PR NEWS / อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ร่วมกับสถานทูตเยอรมัน เปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ฉลองความสัมพันธ์ 160 ปี ไทย-เยอรมนี

วันที่ 2 มีนาคม 2565 ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย มูลนิธิอมตะ และบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด จัดพิธีเปิด “เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี (ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต)” เพื่อรำลึกวาระความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ในวาระครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมัน โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานมูลนิธิรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ เข้าร่วมพิธีเปิด

โครงการนี้ เป็นความร่วมมือไตรภาคีระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย มูลนิธิอมตะ และบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เพื่อพัฒนา “เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี (ผากล้วยไม้ – น้ำตกเหวสุวัต)” ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้และเสริมสร้างประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยวในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำหรับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่เชื่อมระหว่างสองน้ำตก เป็นเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามลำห้วยลำตะคอง ผ่านป่าไผ่สลับกับป่าดิบ-แล้งเป็นระยะๆ ภายในเส้นทางจะได้ยินเสียงดังกึกก้อง ของน้ำตกผากล้วยไม้ในฤดูฝน แต่เมื่อน้ำลดลงในฤดูแล้ง จะได้พบเห็นร่องรอยการไหลของหินลาวาภูเขาไฟเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน รวมทั้งดอกไม้หินซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้ได้พบเห็นด้วย รวมทั้งหวายแดงอันเป็นที่มาของชื่อน้ำตกที่ผลิดอกเป็นช่อยาวสีแดงโดดเด่นบริเวณผาน้ำตกในช่วงเดือนเมษายน โดยใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 2-3 ชั่วโมง

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM และกรรมการ บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ถือเป็นโอกาสอันดีในการเปิด “เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี (ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต)” เพื่อเฉลิมฉลองของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณะรัฐเยอรมนี ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และได้มีการสานต่อความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางการค้า ด้านการเศรษฐกิจและวิชาการ การถ่ายทอดวิชาการและเทคโนโลยี การส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ การแบ่งปันเทคโนโลยีการผลิตสาขาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการจัดการทรัพยากรน้ำให้ยั่งยืน และความร่วมมือกันพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้า ภาคเอกชนในระยะแรกมีการค้าหลากหลาย โดย บี.กริม เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยังคงดำเนินกิจการในไทยจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนานถึง 144 ปี เริ่มต้นจากการเข้ามาเปิดห้างขายยาตำหรับตะวันตก จนถึงปัจจุบันมีการดำเนินธุรกิจหลายหลายประเภท ทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านสุขภาพ ด้านไลฟ์สไตล์ ด้านคมนาคม โดยมีธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจหลัก โดยมุ่งสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิด “เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี (ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต)” ในครั้งนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศผ่านความร่วมมือกัน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในการอนุรักษ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาธรรมชาติตลอดเส้นทางที่เชื่อมระหว่างสองน้ำตก

“การปรับปรุงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต ซึ่งเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย สะท้อนถึงความร่วมมือกันด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ในครั้งนี้” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของ บี.กริม ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตลอด 144 ปี ภายใต้ปรัชญา การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนและสังคม พร้อมให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า