เชิญชวนเที่ยวชมงาน เรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ ขับเคลื่อน “Soft Power” ความเป็นไทย สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” ภาคใต้ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษฎา คงคะจันทร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัดภาคใต้ ศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายทางวัฒนธรรมและชาวจังหวัดพัทลุงเข้าร่วม ณ ตลาดน้ำทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมมือกับจังหวัด หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” 4 ภาค ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดของทุกภาค เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ใหม่ของวธ.คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย”และปรับเปลี่ยนภารกิจทั้งการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ “วัฒนธรรมทำงาน ทำเงิน ทำดี” โดยพื้นที่ภาคใต้ จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯขึ้นภายใต้ชื่องาน “เสน่ห์เมืองหนังโนรา รังสรรค์ศิลป์ถิ่นใต้” วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ตลาดน้ำทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งผูกพันกับชีวิตและเป็นที่นิยมของคนไทยในภาคใต้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ภายในงานมีกิจกรรม ได้แก่ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น โนราทำบท รำมโนราห์ตัวอ่อน หนังตะลุงประยุกต์ หนังตะลุงคน ดิเกร์ฮูลู รองเง็ง ลิเกป่า มหกรรมโขน มหกรรมวัฒนธรรม 4 ภาค การแสดงดนตรีพื้นบ้าน วงเบอมูดาอัสรี จังหวัดปัตตานี รังสรรค์ศิลป์ถิ่นใต้ ระบำวิถีถิ่นพังงา เป็นต้น นิทรรศการ เช่น โนรา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ การเสวนา อาทิ โนรา นาฏลักษณ์เมืองปักษ์ใต้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่สากล ศิลปะร่วมสมัยสร้างรายได้สู่ชุมชน การสาธิต จำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 14 จังหวัดภาคใต้ ทั้งนี้ วธ.ขอเชิญชวนประชาชนเที่ยวชมงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯภาคใต้ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ CPOT ของชุมชนคุณธรรมฯภาคใต้ โดยการจัดงานครั้งนี้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นายปรเมศวร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่จัดกิจกรรมครั้งต่อไปนั้น คือ ภาคกลาง จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ เดือนเมษายน 2565 ณ จังหวัดตราด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดงานเดือนพฤษภาคม 2565 ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ และภาคเหนือจัดงานเดือนกรกฎาคม 2565 ณ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งวธ.จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ 4 ภาคขึ้นเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงวธ.มีนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จึงมุ่งส่งเสริมและเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน ศิลปินพื้นบ้าน ได้มีโอกาสถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่เยาวชนและประชาชน อีกทั้งสนับสนุนการนำสินค้าผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯในจังหวัดต่างๆ มาสาธิตและจำหน่าย