นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนธันวาคม 2564 ว่าดัชนีความเชื่อมั่น SMESI ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ระดับ 50.5 มาอยู่ที่ระดับ 51.8 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นเกินระดับค่าฐาน (50) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น เกือบทุกภาคธุรกิจ และทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ากลับลดลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในปัจจุบันความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และโครงการ
“เราเที่ยวด้วยกัน” ที่กระตุ้นให้ผู้คนออกมาใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ที่พัก ที่มีปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ประกอบกับการให้บริการรถรับเหมา และสาขาสันทนาการ/ วัฒนธรรม/การกีฬา ที่ขยายตัว โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคใต้ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากวงเงินของโครงการ “คนละครึ่ง” ใกล้หมดลงองค์ประกอบของดัชนีด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน กำไร และการจ้างงาน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.1 56.3 53.2 55.2 และ 49.9 ตามลำดับ
ขณะที่องค์ประกอบด้านต้นทุนยังคงมีค่าดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 37.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ภาคการผลิตภาคการค้า ภาคการบริการ และธุรกิจการเกษตร ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขามาอยู่ที่ระดับ 52.3 50.4 52.1 และ 57.2 ตามลำดับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ 54.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.3 มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นชัดเจนในกลุ่มภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม/ที่พัก และร้านอาหาร รวมถึงความต้องการสินค้าในหมวดของฝาก/ของที่ระลึก เช่น เครื่องหอมที่นิยมถือเป็นของฝาก อาหารแปรรูปต่างๆ อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างในพื้นที่ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าหมวดดังกล่าวเพิ่มขึ้น จากยอดคำสั่งซื้อของสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะการค้าวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัว
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ 50.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.4 มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงกลุ่มร้านนวด/สปา และภาคการผลิตอาหารที่เป็นสินค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยว เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของวิสาหกิจชุมชน สำหรับซื้อเป็นของฝาก/ของที่ระลึกในช่วงเทศกาลปีใหม่
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 48.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.4 จากปัจจัยบวกช่วงเทศกาล และวันหยุดยาวสิ้นปี ทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาค ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สาขาโรงแรม ที่พัก และสาขาสันทนาการ/วัฒนธรรม/กีฬา จากการจัดงานแสดงพื้นบ้านในแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มร้านนวด/สปา ที่กลับมาเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 48.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.3 จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้ความต้องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ใกล้กรุงเทพฯ ขยายตัว ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 52.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.1 ภาพรวมธุรกิจค่อนข้างทรงตัว แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเพิ่มเติม แต่ให้งดจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลสิ้นปีในพื้นที่ ประกอบกับผู้คนเดินทางออกจากการพื้นที่เพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาสันทนาการ/วัฒนธรรม/กีฬา และร้านโชห่วย ที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 53.6 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.4 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเพราะแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายสาขาเริ่มกังวลต่อความไม่แน่นอนในการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคการค้าที่มีการลดการสต็อคสินค้าลดลงให้เพียงพอต่อการขายวันต่อวันเท่านั้น ประกอบกับวงเงินของโครงการ “คนละครึ่ง”ที่ใกล้หมด อย่างไรดีภาคการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และการเดินทางของผู้คนยังได้รับผลดีจากจากแรงงานที่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาล ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าหมวดของฝากมากขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 56.0 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า
ที่ระดับ 58.1 การคาดการณ์ความเชื่อมั่นฯ อีก 3 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่กังวลต่อมาตรการควบคุมโรค และข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมไปถึงผู้ประกอบการต้องเผชิญภาวะต้นทุนราคาสินค้า/วัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และหมวดวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ เนื้อหมู เครื่องปรุงรส และเนย เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ปัจจัยที่ส่งผลดี ได้แก่ กำลังซื้อของผู้บริโภค จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อภาวะธุรกิจ SME เนื่องจากการฟื้นตัวของผู้บริโภคที่เริ่มทยอยออกมาใช้จ่ายตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งธุรกิจมีการปรับรูปแบบการให้บริการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจการ ทำให้ขยายกลุ่มตลาดได้หลายช่องทางมากขึ้น ปัจจัยที่ส่งผลลบ ได้แก่ ภาวะราคาสินค้า/วัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมันที่กระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการ“คนละครึ่ง” สิ้นสุดลง ทำให้เกิดการชะลอการใช้จ่าย อีกทั้งความไม่มั่นใจในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564