DIProm Virtual Gallery : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน จัดสัมมนา Virtual Gallery for Digital Marketing ยกระดับผู้ประกอบการไทย 200 ราย เข้าถึงช่องทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์โอทอปผ่านดิจิทัล ติดอาวุธตลาดออนไลน์ ดันรายได้เพิ่ม 10-30%
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถผ่านช่วงสถานการณ์โควิด19 อัดงบกว่า 16 ล้านบาท ปั้นผู้ประกอบการ ลุยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด พร้อมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพการแข่งขันยกระดับสู่สากล ผ่านกิจกรรมสัมมนา Virtual Gallery for Digital Marketing ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประจำปีงบประมาณ 2565
นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการโอทอป นับเป็นฐานราก ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ผ่านมา กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และการดำเนินงานที่ผ่านมา กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป ได้มีการดำเนินงานทั้งด้านการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้แนวโน้มการตลาด การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจชุมชน และการสัมมนา Virtual Gallery for Digital Marketing เพื่อให้สามารถขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องเผชิญความยากลำบากจากวิกฤตเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเป็นตัวเร่งให้เกิด “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” เร็วขึ้น ทำให้เกิดช่องทางการจำหน่ายรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆสนับสนุนการต่อยอดให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบกสนโอทอป และยังสร้างประสบการณ์การซื้อ-ขายสินค้าแบบไร้รอยต่อแก่ผู้บริโภคยุคใหม่ ก่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว นับเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข็มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับการดำเนินงานของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในปี 2565 ภายใต้งบประมาณกว่า 16 ล้านบาท ได้ดำเนินการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนในกลุ่มฐานราก คือ ผู้ประกอบการโอทอปในกลุ่ม C ให้สามารถพัฒนาตัวเองและยกระดับการผลิตมาอยู่ในกลุ่มโอทอป ระดับ A หรือ B ผ่านการช่วยเหลือและการสนับสนุนของหน่วยงานภาคี และหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ เช่น สำนักงานอุตสากรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้ง 11 แห่ง ซึ่งการลงพื้นที่สนับสนุนผู้ประกอบการโอทอประดับ C กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญรอบด้าน และในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฯ สามารถพัฒนาและยกระดับการผลิตตามมาตรการในการขับเคลื่อน BCG โดยเฉพาะสินค้าและบริการในกลุ่ม BCG ที่อยู่ในเป้าหมายผลักดัน ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิต ได้มีการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม เทคโนโลยีที่จับต้องได้ โดยชาวบ้านในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของการทำธุรกิจ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งได้เน้นการสร้างคอนเทนต์เพื่อมายกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โอทอป จะให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา โดยได้น้อมนำแนว “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้ในพัฒนา ส่วนเรื่องของการตลาดเนื่องจากสภาวะปัจจุบัน ทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การส่งเสริมแผนการตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการโอทอปมุ่งเป้าไปที่ การจะทำอย่างไร..ให้ผู้ประกอบการฯ สามารถเพิ่มช่องทางการขาย ผ่านโซเชียลมีเดียได้ในทุกแพลตฟอร์ม
แม้ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ได้ดำเนินงานกิจกรรมต่างๆอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบเสมือนจริง DIProm Virtual Gallery และได้จัดสัมมนา Virtual Gallery for Digital Marketing มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้เข้าสัมมนาได้รับความรู้และทักษะการใช้งานในระบบ DIProm Virtual Gallery และเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้าง Content นำเสนอผลิตภัณฑ์เชื่อมโยง Digital Marketing อีกทั้งยังได้ส่งเสริมให้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับผู้เกี่ยวข้องด้วย โดยในภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ว่า จุดแข็งก็คือการมีจำนวนผู้ประกอบการฯใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือแทบทุกราย มีการสื่อสารและจำหน่ายสินค้าผ่านระบบดิจิทัล เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ สามารถประชุมผ่าน ZOOM ได้ ประชุมผ่านไลน์ได้ สามารถเข้าถึงร้านค้าบนโลกออนไลน์ได้ แต่ที่ยังต้องพัฒนาต่อคือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการโอทอป ที่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะการใช้งานดิจิทัล ให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้นในวิกฤตโควิดครั้งนี้ ได้กลับกลายมาเป็นโอกาสของการพัฒนาสู่ “ช่องทางการตลาดยุคใหม่”
ดังต้นแบบของการสัมมนาฯ ครั้งนี้ ได้คัดเลือกผู้ประกอบการ 2 ราย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ และโดดเด่น เป็นตัวอย่างของความสำเร็จ คือ นางสาวธีร์ชญาน์ อุดมเฉลิมธีรเดช Teya Keto Waffle คีโต วาฟเฟิลทำจากแป้งอัลมอนด์แผ่นบาง กรอบ ที่ไม่เหมือนใคร ไม่มีแป้ง ไม่มีน้ำตาล ไม่มีผงชูรส ให้ โปรตีนสูง และโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันดีต่อร่างกาย กรอบ อร่อย ช่วยให้อิ่มนาน ใช้ความหวานจากหญ้าหวานจากธรรมชาติ ไม่เฝื่อน ไม่ขม ไม่เย็นแบบอิริทริทอล (สารให้ความหวานแทนน้ำตาล) ไม่มีแคลลอรี่ และไม่กระตุ้นอินซูลิน และนายมูฮัมมุด สุมาลี เจ้าของไอเดียผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเหงือกปลาหมอ โดยนำสมุนไพรพื้นบ้านทีมีจำนวนมากและหาง่ายในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นสบู่ ยาสระผม ยาหม่อง ชาเพื่อสุขภาพ ด้วยสรรพคุณช่วยรักษา อาการคัน โรคผิวหนังต่างๆ ช่วยผลัดเซลล์ผิว และยังเป็นยาอายุวัฒนะ เสริมภูมิคุ้มกัน รักษาไซนัส รักษาระบบภายในช่วยในเรื่องของประจำเดือนมาไม่ปกติ และลดการเกิดโรคนิ่วในไต ได้อีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์ของทั้ง 2 ราย จะนำเสนอคอนเทนท์โปรโมทผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งแพลตฟอร์ม Facebook Instagran และ Tiktok ของพีทพามานา หรือคุณสุทิน โคตะถา ครีเอเตอร์วัย 27 ปี มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นการนำเสนอมุมมองและวิถีชีวิตของคนต่างจังหวัดอย่างมีสไตล์
“ข้อดีที่เข้ามาเปลี่ยนวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการโอทอปกลุ่ม C ฐานรากครั้งนี้ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ผู้ประกอบการฯ มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่มาเติมเต็มให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญคือ ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าชุมชนได้ง่ายขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน คาดหวังที่จะให้ผู้ประกอบการฯ ทุกๆราย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของช่องทางการตลาดดิจิทัล เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในทุกๆสภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงในเรื่องใด ผู้ประกอบการไทยต้องไปรอด ถ้าย้อนกลับมาดูในภาพรวมของผู้ที่เข้าร่วมการพัฒนา ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่เป็นการขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติของแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ในปีงบประมาณ 2565 เป้าหมายในการพัฒนาโดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน มีจำนวน 200 รายกระจายครอบคลุมพื้นที่ 60-70% ทั่วประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการโอทอป สามารถอยู่รอดได้ถึง 70 % หรือประมาณ 140 ราย จากที่เขียนแผนธุรกิจไม่ได้ ก็เขียนได้ และประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง แกร่งขึ้น และสุดท้ายต้องมีความยั่งยืน ที่สำคัญคือ มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10-30 % คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ” นายวัชรุนฯ กล่าวทิ้งท้าย
สามารถเข้ารับชม DIProm Virtual Gallery ได้ทาง https://dip.vrsmartgallery.com/