สสว. เร่งช่วยเหลือ SME 5,000 กว่าราย ให้ได้รับการพัฒนา ยกระดับมาตรฐาน ผ่านโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ มาตรการเอสเอ็มอีคนละครึ่ง คาดเป็นการสร้างโมเดลใหม่ในการพัฒนาธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังงานชี้แจงมาตรการ การให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ว่า ในปี 2565 สสว. ได้ดำเนินมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่เป็นมาตรการหลักที่สำคัญของ สสว. และได้รับการตอบรับที่ดี เช่น มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ Thai SME GP และโครงการนำร่อง One ID ด้วยการพัฒนาระบบ Single Sign On เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SME ให้สามารถเข้าถึงการส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐได้สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง โดยพร้อมที่จะเปิดตัวมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ผอ.สสว. เผยอีกว่า ภายในเดือนมกราคมนี้ สสว. จะเปิดระบบ BDS อย่างเป็นทางการเพื่อให้ผู้ให้บริการทางธุรกิจ หรือ BDSP ขึ้นทะเบียนและนำเสนอบริการลงบนระบบ BDS และในส่วนการขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือ อุดหนุนของผู้ประกอบการ จะเปิดให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยคาดว่าจะเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ส่วนบริการที่อยู่ในเกณฑ์ที่ สสว. จะช่วยเหลือ อุดหนุนให้แก่ SME ที่ยื่นข้อเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS จะมีอยู่ 6 หมวด ด้วยกัน คือ 1.การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ 2.การพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ 3.การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ 4.การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด 5.การพัฒนาตลาดต่างประเทศ และ 6.การพัฒนานวัตกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการพัฒนาและยกระดับทางธุรกิจ ตามที่คณะกรรมการบริหาร สสว. กำหนด โดยในเฟสแรกนี้ จะเน้นการสนับสนุนในหมวดการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอีที่ สสว.จะช่วยเหลือ อุดหนุน ได้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล หรือผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ เน้นกลุ่มท่องเที่ยว อาหาร เครื่องดื่ม ยา สมุนไพร New S-Curve BCG (Bio Circular Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ) และ เกษตรแปรรูป ส่วนผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่จะเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว สสว. กำหนดให้เป็นส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชน หรือผู้ให้บริการทางธุรกิจที่เป็นภาคเอกชนที่มีส่วนราชการ รับรองหรือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยให้บริการทางธุรกิจ
นายวีระพงศ์ เผยอีกว่า เมื่อสิ้นสุดมาตรการในปีนี้ สสว. จะประเมินว่า สามารถสร้างกลไกสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางธุรกิจทั้งภาครัฐ หรือภาคเอกชน มีบทบาทในการส่งเสริมเอสเอ็มอีได้มากขึ้น สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาเอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง เกิดแพลตฟอร์มการให้บริการในรูปแบบใหม่บนระบบ BDS นี้ ที่จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจากผู้บริการทางธุรกิจสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุน และมีความพร้อมในด้านการมาตรฐานได้มากขึ้น