บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เพื่อริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อม “Solar for Lives: พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จะทำหน้าที่ในการติดตั้งระบบ แผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์ เพื่อช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่โรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศ
ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ในระยะต้นของโครงการนี้ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทุ่มงบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อใช้ในการติดตั้ง และส่งมอบระบบแผงโซลาร์ ซึ่งครอบคลุมถึงการดูแลรักษารายปี ให้แก่โรงพยาบาลชุมชนรวม 40 แห่ง ทั่วประเทศ ภายในปี 2575 โดยการติดตั้งแผงโซลาร์ดังกล่าว จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 25 ปี
โครงการ Solar for Lives นี้ คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ถึงกว่า 17,300 ตัน ในระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ยังช่วยโรงพยาบาลแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการลดค่าไฟได้มากถึง 400,000 บาทต่อปี
มร. เออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมไทย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย อยากเห็นคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น โครงการ “Solar for Lives” จึงได้ริเริ่มขึ้นตามแนวทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ของเราที่ว่า “สรรค์สร้าง เคียงข้าง สังคมไทย” ผ่านหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือโรงพยาบาลชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเพื่อเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน”
“มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีทิศทางในการสนับสนุนช่วยเหลือสังคมที่ชัดเจน และมุ่งหน้าดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนสมดุล เราได้ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลงมากกว่า 6,100 ตันต่อปี รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จากการศึกษาการประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment – LCA) ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านโครงการ ‘ปลูกป่า 60 ปี 60 ไร่’ ด้วย”
จากแนวทางคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขการคัดเลือกโรงพยาบาลชุมชนที่จะได้รับการติดตั้งแผงโซลาร์ ขึ้นอยู่กับความต้องการและโครงสร้างทางกายภาพของโรงพยาบาลเหล่านั้นเป็นสำคัญซึ่ง โรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จะเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของโครงการที่จะมีการติดตั้งแผงโซลาร์
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “โรงพยาบาลต่าง ๆ มีการใช้พลังงานจำนวนมากในการให้บริการทางการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยโรงพยาบาลในชุมชนมีแนวโน้มการขยายการให้บริการตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ของโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงโดยสะดวกของประชาชน อย่างไรก็ตาม การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลชุมชนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการและโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ดีได้ ดังนั้น โครงการนี้ จึงสามารถช่วยสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างชัดเจน ด้วยการสร้างแหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืนให้แก่โรงพยาบาลอีกทั้งยังสามารถส่งเสริมเป้าหมายยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนสมดุลด้วย”
นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือภายใต้โครงการ “Solar For Lives: พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” กฟผ. ได้สนับสนุนการดำเนินการ พร้อมให้คำแนะนำเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเซลล์แสงอาทิตย์รวมถึงสนับสนุนกระบวนการออกใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ซึ่ง กฟผ. ได้รับสิทธิ์ให้เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายสิทธิ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุน เวียนเพียงรายเดียวของประเทศไทยเพื่อรองรับความต้องการของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสีเขียว (กลุ่มบริษัท RE100) นอกจากนี้ในอนาคต กฟผ. จะร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ต่อไปด้วย”
กฟผ. พร้อมผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและได้กำหนดนโยบายมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ได้แก่
1.Sources Transformation ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580
2.Sink Co-creation หรือการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม อาทิ กฟผ. พร้อมพันธมิตรตั้งเป้าปลูกป่าจำนวน 1 ล้านไร่ ภายใต้โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2574
3.Support Measures Mechanism คือกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดย กฟผ. ดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5
สำหรับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ในฐานะอีกหนึ่งพันธมิตรของโครงการจะให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านเทคนิคและวิชาการเกี่ยวกับ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ข้อมูลของกระบวนการและหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงบทบาทและภารกิจขององค์การว่า “อบก. เป็นองค์กรสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ประเทศไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน (Driving Ambition for Carbon Neutrality) โดยมีการผนึกกำลังความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามเจตนารมณ์ภายใต้ความตกลงปารีส และเป็นหน่วยงานให้การรับรองคาร์บอนเครดิตเพียงองค์กรเดียวในประเทศ”
“ซึ่ง อบก. ได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ “โครงการ T-VER” ขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ซึ่ง อบก. จะเป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการ และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ ในหน่วย “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” หรือเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” โดยสามารถนำไปแลกเปลี่ยน หรือ ซื้อ-ขาย เพื่อนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร งานอีเวนต์ ผลิตภัณฑ์ หรือบุคคลได้”
“ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งมอบและติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับโรงพยาบาลชุมชน ระหว่างบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่น และยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลชุมชนอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถพัฒนาเป็นโครงการ T-VER และขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้” นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ กล่าวสรุป
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมคาร์บอนสมดุล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น และด้วยนโยบายดังกล่าว คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40% จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ และการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 50% จากยอดจำหน่ายรถยนต์ Mitsubishi ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2573