สำนักงานนวัตกรรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ประกาศสุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีคแห่งปี 2564 ระดับมหาวิทยาลัย จาก 400 ทีมทั่วประเทศ พร้อมเปิดพื้นที่โชว์ 200 สุดยอดไอเดียเจ๋ง ตอบโจทย์ธุรกิจ โดยทีม Erythro-Sed จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้าสุดยอด สตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีค 2564 จากผลงาน ผลิตภัณฑ์ควบคุมคุณภาพเครื่องตรวจวัดอัตราการตกตะกอนเม็ดเลือดแดง (ESR)
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “โครงการสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีค (Startup Thailand League) เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง NIA กับ 40 มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศทั่วประเทศ เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ โดยส่งเสริมและสนับสนุนนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศให้เข้าถึงองค์ความรู้ในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ สร้างระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่จะจุดประกายและส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การอบรม Coaching Camp เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ 2) กิจกรรม Pitching Startup Thailand League เป็นการประกวดแข่งขันไอเดียแผนงานธุรกิจสตาร์ทอัพของนิสิต นักศึกษา ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ด้านเกษตรและอาหาร 2.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3.ด้านการเงินและการธนาคาร 4.ด้านอุตสาหกรรม 5.ด้านการท่องเที่ยว 6.ด้านไลฟ์สไตล์ 7.ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 8.ด้านภาครัฐ/การศึกษา 9.ด้านอสังหาริมทรัพย์ และ 10.ด้านดนตรี-ศิลปะและนันทนาการ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ และ 3) กิจกรรมแสดงผลงาน (Demo Day) เพื่อเป็นการแสดงผลงานต้นแบบ (Prototype) ของนักศึกษาที่ได้รับการอนุมัติจากกิจกรรม Pitching Startup Thailand League
ในปีนี้นิสิตนักศึกษาได้ให้ความสนใจในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใน 3 กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Tech), เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร (AgTech & FoodTech) และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) ซึ่งเทคโนโลยีด้านสุขภาพมีการพัฒนาเป็นธุรกิจนวัตกรรมมากขึ้นกว่าทุกปี ด้วยเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้นิสิตนักศึกษาให้ความสนใจในการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพและด้านการแพทย์มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่านิสิตนักศึกษาสามารถใช้วิกฤติ เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานในการเริ่มต้นธุรกิจได้ และจาก 400 ไอเดียธุรกิจของนักศึกษาทั่วประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันในระดับภูมิภาค มีเพียง 18 ทีมที่ได้ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้าย Startup Thailand League 2021 ระดับประเทศ ในวันนี้ ซึ่งได้ประชันไอเดียต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก Venture Capital และบริษัทสตาร์ทอัพในหลากหลายสาขา ซึ่งผู้ชนะเลิศ อันดับ 1-3 จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท, 30,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ พร้อมถ้วยรางวัล และรางวัลพิเศษ ที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จะได้สนับสนุน Huawei Cloud Credit แก่นิสิตนักศึกษาที่ชนะเลิศระดับประเทศทั้ง 18 ทีม รวมเป็นรางวัลกว่า 36,000 USD หรือประมาณ 1,200,000 บาท
นอกจากการแข่งขันรอบสุดท้ายแล้ว เรายังจัดกิจกรรมแสดงผลงาน / ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จาก IDEA สู่ Prototype จำนวน 200 ผลงานของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกและสนับสนุนงบประมาณการจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทีมละ 25,000 บาท รวม 5 ล้านบาท เป็นการสร้างโอกาสสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและแสดงผลงานต่อกลุ่มนักลงทุน ภาคเอกชนและผู้ที่สนใจธุรกิจสตาร์ทอัพ และถือเป็นก้าวสำคัญในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต! NIA มีความยินดีอย่างมากที่ได้เห็นพลังแห่งการสร้างสรรค์จากน้องๆ นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ และเราพร้อมเปิดเวทีต้อนรับความคิดสร้างสรรค์ของทุกคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นระบบ มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีช่วยขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว! เวทีการแข่งขัน Startup Thailand League ระดับมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่นิสิตนักศึกษาในการแสดงศักยภาพเท่านั้น แต่ยังสอดรับกับนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่และอาจว่างงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขาเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”