ไขข้อสงสัย “Home Isolation” ทำอย่างไรให้รอดจริง

ในวันที่ผู้ป่วยโควิดพุ่ง และโรงพยาบาลยังอยู่ในสภาวะเตียงเต็ม ทางเลือกทางรอดของผู้ป่วยตอนนี้ จึงอยู่ที่ “Home Isolation” หรือการแยกกักที่บ้าน 

Home / PR NEWS / ไขข้อสงสัย “Home Isolation” ทำอย่างไรให้รอดจริง

ในวันที่ผู้ป่วยโควิดพุ่งแตะหลักสองหมื่นต่อวัน และโรงพยาบาลยังอยู่ในสภาวะเตียงเต็ม ทางเลือกทางรอดของผู้ป่วยจำนวนมากตอนนี้ จึงอยู่ที่ “Home Isolation” หรือการแยกกักที่บ้าน 

เมื่อเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ใน “เครือมติชน” ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ จึงจัดเวทีทอล์ก “Home Isolation ทางรอดวิถีใหม่ ทำอย่างไรให้รอดจริง!” ใน “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน มหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งสำคัญ ชวน 3 บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนรูปแบบการรักษาตัวที่บ้าน ทั้ง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มาไขปัญหาคาใจ เพื่อให้ Home Isolation คือทางรอดยุคโควิดของผู้ป่วยอย่างแท้จริง

“หมอจเด็จ” ให้ความมั่นใจ ใช้ผล ATK เข้า Home Isolation ได้เลย 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มด้วยประเด็นร้อนตอนนี้ อย่างความพร้อมในการจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) สำหรับตรวจเชิงรุก จำนวน 8.5 ล้านชุด ที่จัดหาโดยองค์การเภสัชกรรม เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ป่วยว่า สปสช. มีความพร้อมในการนำร่องใช้ชุดตรวจดังกล่าวกับระบบ Home Isolation โดยระหว่างนี้ได้จัดทำแผนการกระจายชุดตรวจตามจุดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งร้านขายยา หรือการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ กรณีที่ผู้ป่วยร้องขอ

ขณะนี้จะใช้ชุดตรวจดังกล่าวเป็นมาตรฐานเบื้องต้น เมื่อตรวจแล้วผลเบื้องต้นเป็นบวก ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าระบบ Home Isolation ได้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยัน ส่วนผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล สถานพยาบาลหรือหน่วยแพทย์ที่รับตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษา อาจจะทำการตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย

“สปสช. ส่งเสริมการทำ Home Isolation  โดยภารกิจของเราคือสนับสนุนงบประมาณวันละ 1,000 บาท ต่อผู้ป่วย 1 คน และยังมอบหมายให้สายด่วน 1330 รับเรื่องและจับคู่คลินิก ศูนย์บริการ กับผู้ป่วย 

“เมื่อผู้ป่วยตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วพบว่าผลเป็นบวก สามารถติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้านที่เคยไปรับบริการได้ หรือสายด่วน 1330 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีโทรไม่ติดอยู่บ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันประชาชนมั่นใจได้ว่าโทรมาแล้วติดและมีผู้รับสายแน่นอน และไม่เพียงแต่สายด่วน 1330  สปสช. ยังเพิ่มช่องทางการลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่การดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน (Home-Community Isolation) ที่ https://crmhi.nhso.go.th/  หรือเพิ่มเพื่อนผ่านไลน์ Official Account หรือไลน์ OA ของ สปสช. @nhso เลือกบริการเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบได้เช่นกัน” 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่กรอกทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบเดียวกัน และจะถูกส่งต่อให้กับคลินิกใกล้บ้านเริ่มดำเนินการดูแลผู้ป่วยด้วยระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน (Home-Community Isolation) ต่อไป

อธิบดีกรมการแพทย์ แนะ เมื่อผล ATK เป็นบวก เช็กลิสต์ตอบ 7 แยก เตรียมเข้า Home Isolation

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ประมวลภาพรวมจำนวนผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากการติดตามร่วมกับ สปสช. พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการ Home Isolation แล้วประมาณ 70,000 ราย และอาจทะลุ 80,000 ราย ในไม่ช้า เนื่องจากปัจจุบันประชาชนยอมรับและตรวจแบบ ATK มากขึ้น ซึ่งช่วยให้พบผู้ติดเชื้อได้เร็ว และแยกตัวผู้ป่วย เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว

สิ่งสำคัญในปัจจุบันคือการควบคุมโควิด ด้วยการแยกผู้ป่วย หรือเรียกว่าแยกปลาออกจากน้ำ ทันทีที่ผลตรวจเป็นบวก สามารถทำ Home Isolation ได้เลยหรือไม่ คำตอบคือ ได้เลยสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว โดยมีเช็กลิสต์ “7 แยก” ดังนี้

1. แยกอยู่ คือต้องอยู่คนเดียวให้ได้ 

2. แยกกิน คือแม้จะอยู่ในบ้านเดียวกันก็ต้องต่างคนต่างกิน 

3. แยกนอน คือต้องแยกห้องนอนของผู้ป่วยออกเป็นสัดส่วน

4. แยกใช้ คือไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน แม้จะอยู่บ้านเดียวกัน

5.แยกห้องน้ำสำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับคนอื่น ให้ทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้งด้วยผงซักฟอก

6. แยกทิ้ง คือการแยกขยะติดเชื้อ รวมถึงขยะจากการใช้สิ่งของอื่นๆ โดยผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation จะได้รับถุงแดงสำหรับทิ้งสิ่งของแยกต่างหาก

7. แยกอากาศ หมายถึงการใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างจากกันอย่างน้อย 2 เมตร

หากแยกกักตัวเองได้จะเข้าสู่กระบวนการ Home Isolation โดยจะได้รับสิ่งสนับสนุน ประกอบด้วย อาหาร 3 มื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยาที่จำเป็น และการพบแพทย์เแบบโทรผ่านทางไกล (Telemonitor) ทำให้ติดตามอาการได้ง่ายขึ้น หากประเมินแล้ว ผู้ป่วยไม่สามารถกักตัวคนเดียวได้ ก็จะต้องเข้ากระบวนการ Community Isolation ที่ทางราชการกำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กรมการแพทย์พยายามทำในปัจจุบันคือการควบคุมคุณภาพ โดยออกแนวทางให้คลินิกสุขภาพหรือศูนย์บริการสุขภาพทำงานร่วมกับ สปสช. ในการจับคู่ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยกับสถานพยาบาลหรือศูนย์ดูแลในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำส่งกล่องแคร์เซ็ต ซึ่งประกอบด้วย อาหาร ยา และชุดตรวจที่จำเป็นต่อการแยกกักตัว 14 วัน ให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีความร่วมมือจากภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลือทั้งด้านการขนส่ง และการประสานงานส่งต่อผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆ รวมทั้งมีการเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ให้สามารถรองรับผู้ป่วยในระบบ Home Isolation ได้มากขึ้น

“หากดูตัวเลขผู้ป่วยในปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ วันละราว 4,000 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยสีเขียว 2,500-3,000 คน โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยแจ้งขอแอดมิทในโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น จำนวนผู้ป่วยที่เข้า Home Isolation กับกรมการแพทย์จะมีประมาณ 1,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สามารถรองรับได้ โดยกรุงเทพมหานครได้จัดศูนย์แยกกักตัวไว้รองรับซึ่งมีจำนวนเพียงพอ และเพิ่มจำนวนฮอสพิเทลสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองอีกจำนวน 2,000–3,000 เตียง โดยจะอัพเกรดศูนย์พักคอยให้สามารถตรวจโรคแบบ RT-PCR ที่หน้างานได้แล้ว แต่คำแนะนำของหมอก็คือ อยากให้กักตัวอยู่บ้าน มีปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์กับเพื่อน กับญาติ จะทำให้คนไข้ไม่รู้สึกเบื่อ 

“ผมเชื่อว่า หากเราปฏิบัติได้ทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ระบบการบริการสาธารณสุขที่รัดกุม และมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ ตัวผู้ติดเชื้อในระบบ ที่ให้ความร่วมมือในการรักษา รวมถึงญาติของผู้ป่วย ที่ช่วยดูแลด้านสภาพจิตใจในช่วงการรักษาตัวในระบบ Home Isolation ตลอด 14 วัน ตัวเลขจำนวนผู้รอเตียงจะลดลง และตัวเลขผู้ป่วยใหม่ก็จะค่อยๆ ลดลงด้วย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างไรให้ปลอดภัย

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับ Home Isolation อย่างไร พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฉายภาพให้เห็นว่า สำหรับสมุนไพรไทยกับโควิดที่พูดถึงกันมากนั้น ในแง่การป้องกันยังไม่พบสมุนไพรใดที่จะยืนยันได้ว่าป้องกันโควิดได้ 100% เพราะขนาดวัคซีนยังป้องกันได้ไม่ทั้งหมด 

แต่ในแง่การรักษา สิ่งที่มีข้อพิสูจน์แล้วมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงมากว่าใช้รักษาอาการได้คือ “ฟ้าทะลายโจร” และสมุนไพรที่ถูกพูดถึงมากอีกตัวหนึ่ง และมีโอกาสสูงในการใช้รักษาคือ “กระชาย” ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้ในคนไข้ถึงปริมาณการใช้และฤทธิ์การยับยั้ง ส่วนโกฐจุฬาลัมพาและขิง ยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ ยังไม่ได้รับการรับรองว่าใช้ได้จริง

“สำหรับชุดแคร์เซ็ตที่จะนำไปแจกจ่ายให้ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation สมุนไพรไทยที่จะบรรจุในกล่องจะให้เป็นฟ้าทะลายโจร ให้ผู้ป่วย 1 ชุดต่อ 1 ราย โดยจะต้องกินฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน จะช่วยบรรเทาอาการได้ในผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีโรคประจำตัวมาก่อนและอายุต่ำกว่า 60 ปี โดยไม่แนะนำให้ใช้ในผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่รับประทานยาอยู่ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการใช้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม การแจกจ่ายยาสมุนไพรให้กับผู้ป่วยโควิด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ที่ดูแลอาการ ซึ่งเราดูแลเป็นรายบุคคล” พญ. อัมพร กล่าว

พญ. อัมพร กล่าวอีกว่า ช่วงเวลานี้นับเป็นโอกาสดีที่สมุนไพรไทยถูกนำมาพูดคุยและถกเถียงกันมากขึ้น เป็นโอกาสที่ประชาชนได้ศึกษาสรรพคุณ วิธีและปริมาณการใช้ที่ถูกต้อง รวมถึงเป็นการกระตุ้นส่งเสริมสมุนไพรไทยในระบบเศรษฐกิจระดับชุมชนให้ตื่นตัวมากขึ้น 

เตรียมพบกับหัวข้อเสวนาที่เข้มข้นอื่นๆ ในงาน “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ทุกช่องทางสื่อออนไลน์เครือมติชน วันที่ 18-22 สิงหาคม นี้