สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง/ผู้ประกันตน กรณีที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และมีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ในแคมป์คนงาน นั้น
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานจัดประชุมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้โดยตรง โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุม พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งตนและผู้บริหารของสำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้อง ศ.นิคม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง/ผู้ประกันตน จะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ ศบค.สั่งปิด โดยจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ซึ่งประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรอง ตลอดเวลาการปิดแคมป์ โดยจะมีระบบตรวจสอบว่าลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินชดเชยจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่หรือมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว
สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่รับผิดชอบจะเข้าไปตรวจสอบและขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อให้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรีสุชาติฯ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้ามาร่วมดูแลและเยียวยาลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ด้วย โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเข้าไปดูและในส่วนนายจ้างสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงานอย่างเคร่งครัด และกรมการจัดหางาน จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือหากพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป รวมถึงประสานกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนในแคมป์คนงานให้ได้ครบ 100% ทุกแคมป์ หากพบลูกจ้าง/ผู้ประกันตนติดเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ผู้ที่ไม่พบเชื้อก็จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการให้ดูแลเรื่องอาหารของคนงานทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือนที่ปิดแคมป์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคแบบ “Bubble and Seal” เพื่อไม่ให้คนงานเคลื่อนย้าย และมีการเดินทางข้ามพื้นที่คลัสเตอร์ หรือชุมชนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เช่น โรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยในพื้นที่ระบาดจะมีการตรวจเชิงรุก และการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้ขึ้นทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้