รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลและเนื้อหาความรู้ผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ SME Academy 365 ระหว่าง สสว. และ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ว่า สสว. มีพันธกิจหลักในการบูรณาการและผลักดันการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล
ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบ E-Learning Platform ที่เหมาะสมกับความหลากหลายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ โดยมีเนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญ และทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสนองต่อความต้องการของ MSME ครอบคลุมในทุกมิติ
นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้ โครงการ กิจกรรม รวมถึงบริการต่างๆ ไปสู่ผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อบริการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยอีกว่า สสว. ร่วมกับ สสอท. ได้มีการจัดทำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ SME ซึ่งการเชื่อมโยง เนื้อหา หลักสูตร และองค์ความรู้ ระหว่าง สสว. กับ สสอท. ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลายได้ง่าย และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการส่งเสริมเอสเอ็มอี ด้วย ระบบ SME Academy 365 โดยผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้ออนไลน์ ได้ที่ https://www.smeacademy365.com หรือ ดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น smeacademy365 ได้ทั้งระบบ Android และ iOS
“สสอท. มีสมาชิกเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนกว่า 72 องค์กรทั่วประเทศ และมีจำนวนนักศึกษาในสังกัดมากกว่า 2 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของผู้ประกอบการในพื้นที่ หากนักศึกษาเหล่านี้สามารถใช้งานระบบ SME Academy 365 เพื่อการเตรียมพร้อมเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความสามารถเตรียมพร้อมรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลในอีก 120 วัน ก็คาดว่า ภายใน 1ปี ผู้ประกอบการเหล่านั้น จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 36,000 ล้านบาทได้” ผอ.สสว. กล่าว
ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) เผยว่า สสอท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้มีโครงการร่วมกันจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อเป็นการปรับยกระดับแก่ผู้ประกอบการและพนักงานของเอสเอ็มอีและการให้คำปรึกษาในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับเปลี่ยนวิสาหกิจเหล่านี้ให้มีความแข็งแรงและสามารถคงอยู่และพัฒนาในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นายกสมาคม สสอท. กล่าวอีกว่า สำหรับในโครงการแรกหลังจากการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่ การดำเนินการจัดตั้ง Cluster ของสถาบันและเอสเอ็มอีในการร่วมกันพัฒนาการจัดระบบและปรับเปลี่ยนเอสเอ็มอี โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นวิสาหกิจที่ทันสมัยและรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ทั้งนี้โครงการแรกที่มีการร่วมมือกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีมหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นแกนของแต่ละ Cluster ในช่วงแรก และมีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอื่นๆ ที่มีความสนใจเข้าร่วมในแต่ละ Cluster โดยมีสภาอุตสาหกรรมและ สสว. ในการจับคู่ความเหมาะสมของวิสาหกิจกับ Cluster แต่ละ Cluster ของ สสอท. โดยในขณะนี้โครงการดังกล่าวได้เสนอผ่านทาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อของบประมาณจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในครั้งนี้ สสอท. ได้สนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ โครงการ กิจกรรม และบริการต่างๆ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล ระบบสารสนเทศ ของหน่วยงานรวมทั้งหน่วยงานในกำกับดูแลกลุ่มพันธมิตร รวมถึงให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการตอบคำถาม ให้ข้อมูล ความรู้ กับผู้ประกอบการด้วย นายกสมาคม สสอท. กล่าวในที่สุ