โปรเจ็ค ‘i-rEzEPT’ (intelligent regenerativeelectric vehicles for self-power maximisation and primary control market participation) ซึ่งเชื่อมต่อรถยนต์ไฟฟ้าเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของภาครัฐ และเอกชนได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจในระหว่างการทดลองระบบเป็นเวลากว่าหนึ่งปีที่ผู้เข้าร่วมโครงการไม่เพียงแต่จะได้รับความพึงพอใจในด้านการขับขี่จากนิสสัน ลีฟ แต่ยังได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นแหล่งเก็บพลังงานไฟฟ้าที่สร้างขึ้นเองเพื่อใช้สำหรับที่พักอาศัย
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ให้สัมภาษณ์ และรีวิวการใช้งานที่ผ่านมาอีกด้วย
การทดสอบภาคสนามในฐานะผู้บุกเบิกด้านยานยนต์ไฟฟ้านิสสัน ได้นำ ลีฟ รถยนต์ไฟฟ้า 100% และอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไปติดตั้งที่บ้าน 13 หลังในประเทศเยอรมนี โดยทุกหลังจะต้องมีระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่แล้ว โดยเป้าหมายคือการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ผลิตเองในครัวเรือนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้พลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
การใช้ประโยชน์จากการชาร์จแบบสองทิศทางถือเป็นเอกลักษณ์ของนิสสัน ลีฟ หรือที่เรียกว่า V2G (vehicle-to-grid) เทคโนโลยีถ่ายเทพลังงานจากยานพาหนะสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถใช้นิสสัน ลีฟสำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของแผงโซลาเซลล์บนหลังคาบ้านในแบตเตอรี่ของนิสสัน ลีฟ และหากจำเป็นก็สามารถนำพลังงานไฟฟ้าจากรถไปใช้ในครัวเรือนหรือย้อนกระแสไฟฟ้าคืนสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า
นิสสันเปิดตัวโครงการ “i-rEzEPT” ร่วมกับ บ๊อช ไอโอ (Bosch.IO) สถาบันฟรอนโฮเฟอร์ ไอเอฟเอเอม (Fraunhofer Institutes IFAM) และ ไอเอโอ (IAO) การร่วมทุนครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการระดมทุนสำหรับการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีมูลค่ารวมถึง 2.39 ล้านยูโร
สเตฟาน ซอนน์ทาก ผู้จัดการโครงการการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (E-Mobility) จาก นาว จีเอ็มบีเอช (Stefan Sonntag, Program Manager E-Mobility – NOW GmbH) บริษัทในเครือของกระทรวงคมนาคมแห่งสหพันธรัฐฯกล่าวว่า “รถยนต์ไฟฟ้าควรชาร์จเมื่อมีไฟฟ้าจากลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่ง i-rEzEPT กำลังทดสอบในจุดนี้ช่วยให้คุณไม่เพียงแต่ใช้พลังงานในการขับขี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังได้ให้พลังงานกับบ้านพักอาศัยของคุณด้วย”
การทำงานร่วมกันระหว่างนิสสัน ลีฟ และระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายในประเทศนั้นได้รับการจัดการโดยผู้จัดการด้านพลังงานในท้องถิ่นจากหุ้นส่วนโครงการ บ๊อช.ไอโอ และใช้ซอฟต์แวร์ บ๊อช ไอโอที เกตเวย์ (Bosch IoT Gateway) ตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่จะดึงเอาพลังงานเพียง 10 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มาป้อนให้กับบ้านพักอาศัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อระยะทางการวิ่งของรถ อีกทั้งในกรณีที่จำเป็น เช่น ก่อนการเดินทางไกล ก็จะดึงพลังงานไปชาร์จแบตเตอรี่รถให้เต็มก่อน
ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจะถูกประเมินแบบไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ใช้งานโดยสถาบันฟรอนโฮเฟอร์ ไอเอฟเอเอม (Fraunhofer Institutes IFAM) ในเบรเมิน และ ไอเอโอ (IAO) ในสตุตการ์ด ซึ่งฟรอนโฮเฟอร์ ไอเอโอใช้แพลตฟอร์มข้อมูลที่พัฒนาขึ้นเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ และการคาดการณ์ความพร้อมใช้งานของรถยนต์ สเตฟา ลอสช์ จาก สถาบันฟรอนโฮเฟอร์ ไอเอฟเอเอม (Stefan Lösch – Fraunhofer IFAM) กล่าวว่า “ข้อมูลนี้จำเป็นต่อการได้รับสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจของการชาร์จแบบสองทิศทางและเพื่อกำหนดกลุ่มผู้ใช้งานที่เหมาะสม”
“ปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากทำงานจากที่บ้านทำให้เกิดศัยกภาพในการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยมลภาวะจากการขนส่ง” วินเซนต์ ริคูซ์ จากศูนย์นิสสันแห่งยุโรป (Vincent Ricoux – Nissan Center Europe) กล่าวเสริม “ดังนั้นเราจึงคาดว่าความสนใจในเทคโนโลยีนี้จะเติบโตต่อไปในอนาคต”
สำหรับชื่อโปรเจ็กต์ “i-rEzEPT” ย่อมาจาก “intelligent regenerative electric vehicles for self-power maximisation and primary control market participation” หมายถึงรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่นำพลังงานกลับมาใช้ใหม่เพื่อเพิ่มพลังในตัว และสามารถกำหนดการมีส่วนร่วมในตลาด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย และยังเน้นถึงบทบาทของรถยนต์ไฟฟ้าในการรักษาเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้าของภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตามยังมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการจนกว่าจะสามารถการสร้างระบบ V2G ที่ราคาไม่แพงสำหรับผู้ใช้งาน และให้ระบบมีความคุ้มค่าต่อผู้ใช้งานการเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จและระบบการจัดการพลังงานของการชาร์จถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับระบบจัดเก็บแบตเตอรี่แบบทั่วไปที่ติดตั้งอยู่กับที่ได้