“สช.-สสส.” จับมือกับ Thailand Youth Policy Initiative (TYPI) เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ร่วมกลุ่มกันเพื่อร่วมแข่งขันสร้างนโยบายสาธารณะในมุมมองของเด็กและเยาวชน ต่อปัญหาฝุ่นพิษ PM.2.5 รับสมัครเพียง 30 ทีมเท่านั้น ภายใน 31 พฤษภาคมนี้ และร่วมกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะก่อนเสนอไอเดียสุดล้ำของแต่ละทีมในช่วงเดือนกรกฏาคม ชิงเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. มีหน้าที่สนับสนุนการสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนด้วยเครื่องมือต่างๆ ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยที่ผ่านมา สช. ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการด้านต่างๆ เพราะเป็นมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของประเทศ และไม่อยากให้การมีส่วนร่วมแค่การส่งเสียงเท่านั้น แต่ต้องการให้เป็นภาคส่วนสำคัญตัวจริงเสียงจริงที่มีพลังขับเคลื่อนงานนโยบายได้ด้วย คนมีจุดแข็ง ศักยภาพ และความสามารถด้านดิจิทัล การเข้าถึงข้อมูลบนโลกไร้พรมแดน รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นเรามีความเชื่อว่านโยบายสาธารณะที่มาจากเยาวชนคนรุ่นใหม่จะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ
“สำหรับปัญหาฝุ่นละออง แม้ สช.เคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน แต่เป็นการมุ่งไปที่การแก้ไขหมอกควันในภาคเหนือ ทว่าเมื่อมีปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกิดหนักขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหลายๆ จังหวัดกระจายหลายพื้นที่ เนื่องจากมีปัจจัยมาเกี่ยวข้องจากหลายส่วน เป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องการพลังปัญญาของหลายภาคส่วน และหลังจากที่ได้ข้อเสนอจากการแข่งขันแล้ว สช. กับ สสส.ก็จะนำเอาสิ่งเหล่านั้นออกมาทำให้เกิดขึ้นจริง เพราะที่ผ่านมาเรามีเวทีหรือพื้นที่ในการสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเกิดจากใครก็ได้ กลุ่มใดก็ได้ เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมกำหนดกติกา ใช้จินตนาการมาเติมเต็ม และเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ที่จะทำงานร่วมกัน” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว “
ด้านนางสาวฐิติกาญจน์ จึงธีรพานิช Co-Chairperson Thailand Youth Policy Initiative (TYPI) กล่าวว่า TYPI เป็นองค์การด้านเด็กและเยาวชนน้องใหม่โดยตั้งขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในปีนี้เราได้ทำโครงการประกวดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 เพื่อเฟ้นหาเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 16-30 ปี เพื่อมาประกวดนโยบายนวัตกรรมทางสังคม แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั้งในระดับพื้นที่จนถึงระดับชาติ ข้อเสนอดังกล่าวจะนำไปร่วมกับองค์กรภาคเอกชน รัฐหรือวิชาการ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหานี้จริงๆ ในทางปฏิบัติ ซึ่งทำให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เป็นปัญหาระดับชาติได้ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพของทุกคน และทุกๆ ปีเราต้องทนเผชิญทุกข์กับฝุ่นที่เกิดขึ้น มาจากแหล่งต่างๆ ดังนั้นเราเชื่อว่าปัญหานี้น่าจะแก้ได้ด้วยการมีนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาจากความคิดของคนรุ่นใหม่ จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ที่เรียนหรือทำงานแล้วอายุ 16-30 ปี รวมทีมกันมาไม่เกิน 5 คน ในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อให้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น P.M 2.5
“แม้จะไม่เคยทำนโยบายสาธารณะมาก่อนก็ไม่มีปัญหาในการสมัครเข้าร่วมแต่อย่างใด แค่มีใจอยากเห็นวิกฤติฝุ่น PM 2.5 หายไปจากบ้านเรา ขอให้ร่วมทีมกันมาสมัครได้ภายในสิ้นเดือนนี้ โดยติดตามช่องทางการสมัครได้ทางเพจ และ IG ชื่อ TYPI ซึ่งจะมีคณะกรรมการคัดเลือกเหลือเพียง 30 ทีม ที่จะได้รับการเข้าสู่กระบวนการ Policy Hackathon เป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำนโยบายสาธารณะที่ให้แต่ละทีมร่วมกันระดมสมองในเดือนกรกฎาคม เราเชื่อว่าเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่จะมีนโยบายที่นำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่มาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแน่นอน” นางสาวฐิติกาญจน์กล่าว